The Ruling Game สบตาชนชั้นนำ อ่านเกมอำนาจ การเมืองแห่งประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

The Ruling Game สบตาชนชั้นนำ อ่านเกมอำนาจ การเมืองแห่งประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เปิดตัวในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญของไทยในจังหวะพอดี สำหรับหนังสือ ‘The Ruling Game: ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ผลงาน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์มติชน

ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา เนืองแน่นด้วยผู้คนที่สนใจเกมการเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย

ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ชาติประเสริฐ, ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล จากคณะศิลปศาสตร์, รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ล้อมวงชงประเด็น โดยมี ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ดำเนินรายการ

ปอกเปลือก ‘ชนชั้นนำ’ ทำความเข้าใจ 4 กลุ่มขับเคลื่อนรัฐ

รศ.ดร.ดุลยภาค เล่าว่า ในหนังสือเล่มนี้มีด้วยกัน 4 บท บทแรกเป็นแนวคิด ทฤษฎีชนชั้นนำ ซึ่งยังไม่ได้ลึกมาก เป็นคอนเซ็ปต์พื้นฐาน กระทั่งในบทที่ 2 จึงขยับเข้ามาสู่เรื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยว่าด้วยเรื่องของชนชั้นนำในบริบทประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ถ้าอ่านแล้วก็จะสัมผัสได้ว่า ข้อมูลดึงมาจากงานที่โดดเด่นในแต่ละชิ้น ที่เคยมีมาก่อนหน้า แล้วมาประมวลประกอบเข้าด้วยกัน สิ่งที่อยากพิสูจน์คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกยุคทุกสมัยมีการแบ่งชนชั้นเสมอ โดยแบ่งเป็น ชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง จุดเด่นในบทนี้ก็จะมีการพูดถึงการเมือง มณฑล ปริมณฑลแห่งอำนาจ ทฤษฎีมันดาลา การเมืองการปกครองในยุคอาณานิคม กับหลังอาณานิคม โดยเน้นภาพไปที่ชนชั้นนำ” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

(จากซ้าย) รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ดร.นภดล ชาติประเสริฐ, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช และ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกบทหนึ่ง ซึ่งทางสำนักพิมพ์มติชนบอกว่าคือไฮไลต์ของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ‘กลุ่มก้อนชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งยกมา 4 กลุ่มคือ กษัตริย์ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ

“แน่นอนว่ามีข้อจำกัด เพราะชนชั้นนำนั้นยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกที่จะต้องกล่าวถึงบ้าง เช่น นักบวชทางศาสนา พระสงฆ์ ซึ่งในหลายประเทศก็มีบทบาททางการเมือง หรือพวกดาราที่บางทีก็กระโจนเข้าสู่วงการการเมืองได้ แต่ผมเลือกมาเฉพาะ 4 กลุ่มเพื่อให้การนำเสนอในหนังสือมีปริมาณเนื้อหาที่พอเหมาะพอควร ไม่มากจนเกินไป ให้สมดุลกับบทอื่นๆ และคิดว่า 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง” รศ.ดร.ดุลยภาคอธิบาย

จากนั้น กล่าวถึงบทสุดท้ายที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นการดึงชั้นเชิง เทคนิครัฐศาสตร์ ดึงการเมืองเปรียบเทียบ เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น การสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฟ้างุ้ม ของผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

“มันพิเศษว่าจะมีรัฐมาร์กซิสม์ที่ไหนเน้นเอาวีรกษัตริย์ขึ้นมา เป็นวีรชนก็จะเห็นชัดกว่า ทำไมถึงมีวิธียอพระเกียรติสร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ้มอย่างเอิกเกริก จัดโดยชนชั้นนำมาร์กซิสม์ ซึ่งก็ถูกดึงเข้ามาวิเคราะห์ด้วยเป็นกรณีศึกษาพิเศษ และไฮไลต์บทสุดท้ายคือ ผมเอาแนววิเคราะห์ของแลรี่ ไดมอนด์ นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง มาแบ่งระบบการเมืองในโลกออกเป็นหลายๆ กลุ่ม 5-6 ชนิด แล้วผมก็ใส่สตอรี่เกี่ยวกับชนชั้นนำในแต่ละประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือนำเรื่องราวของชนชั้นนำ ใน 11 ประเทศของ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) มาใส่เข้าไปในชุดจำแนกประเภทของ แลรี่ ไดมอนด์

คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะให้ภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกษาในมุมมองชนชั้นนำและอำนาจ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่รวบรวมเคสจาก 11 ประเทศ มาได้ค่อนข้างครบ โดยมีแนวคิดทฤษฎีรองรับ

“แม้กระทั่งพวกเราไปอ่านบทที่ 3 เรื่องกลุ่มก้อน ชนชั้นนำ แนวคิดทหารกับการเมือง แนวคิดเกี่ยวกับนักการเมือง แนวคิดเกี่ยวกับการขยายอำนาจของนักธุรกิจ ก็มีสอดแทรกให้เห็นหมด อ่านแล้วก็น่าจะทั้งไม่เบื่อด้วย และได้ความเข้มข้นในเชิงทฤษฎีด้วย” รศ.ดร.ดุลยภาคสรุป

ครอบคลุมเนื้อหา 11 ประเทศ ขมวดไม่ง่าย แต่ ‘ดุลยภาค’ ทำได้!

ด้าน ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองร่วมสมัยของประเทศอินโดนีเซีย ชื่นชมว่า รศ.ดร.ดุลยภาค เป็นคนใช้ภาษาได้อย่างรุ่มรวย อย่างตอนที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ จะนึกไม่ออกว่าภาษาไทยใช้อะไร เวลาเห็นอาจารย์ใช้ จึงรู้ว่าแปลแบบนี้

“ได้ความรู้หลายอย่างมาก เป็นหนังสือที่ครอบคลุมเนื้อหา 11 ประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่อาจารย์สามารถทำให้มันขมวดจบได้ ภายในหนังสือหนึ่งเล่มเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอน เป็นตำรา ที่ไม่ได้มีประโยชน์แค่ในห้องเรียนอย่างเดียว

“ข้อมูลที่ได้สามารถเอาไปใช้ได้หลายระดับ ส่วนตัวก็คิดว่าจะให้นักศึกษาที่ตัวเองสอนอ่านเหมือนกัน เพราะสามารถใช้ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งโบราณและร่วมสมัย รวมถึงวิชาอื่นๆ ในหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผศ.ดร.อรอนงค์กล่าว

ผศ.ดร.อรอนงค์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ค่อนข้างชอบ คือกรอบที่นำมาใช้แบ่งชนชั้นตามอำนาจ หรือกรอบการเมืองในอุษาคเนย์ ซึ่งดูน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้มีแบ๊กกราวด์ด้านรัฐศาสตร์ก็สามารถรู้สึกได้ว่าน่าตื่นเต้น

“หนังสือเล่มนี้ยังถูกใจสายประวัติศาสตร์ เพราะมีแง่มุมของประวัติศาสตร์ ส่วนตัวชอบบทที่ 2 ค่อนข้างมาก เพราะเป็นบทที่ให้แบ๊กกราวด์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ค่อนข้างเยอะ เวลาที่เราอ่านจะรู้เลยว่าผู้เขียนคร่ำหวอดในวงวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างลึกซึ้งเข้มข้นมากๆ แทบจะรวมผลงานเกี่ยวกับอุษาคเนย์ไว้ในเล่มนี้หมดแล้ว ถือเป็นงานที่คุ้มค่ากับการอ่าน”

ฟังก์ชั่น ‘ตำรา’ สู่การศึกษาต่อยอด ย่อยเรื่องยาก ให้อ่านง่าย

จากนั้น ถึงคิว รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มองว่า หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตำรา เวลาซื้อมาอ่านต้องตระหนักก่อนว่าฟังก์ชั่นของมันคือการเป็นตำรา

“โดยพื้นฐานไม่ได้นำเสนอประเด็นที่ใหญ่ ไม่ได้มีข้อค้นพบใหม่ๆ หากต้องการแบบนั้นควรหาจากงานวิจัย หน้าที่ของตำรามันคือการกวาดมาว่าองค์ความรู้ ณ ปัจจุบันมีอะไรบ้าง แล้วมาประมวลย่อยในหนังสือ หากท่านอยากจะลงลึกในแต่ละประเด็น ท่านก็สามารถตามไปศึกษาได้จากบรรณานุกรมของผู้เขียน ซึ่งมีที่มาจากหนังสือภาษาฝรั่งเศสด้วย ถือว่าครอบคลุม” รศ.ดร.ภูริชี้

รศ.ดร.ภูริกล่าวอีกว่า ในอนาคต ไม่ใช่แค่สำหรับนักศึกษา แต่สำหรับผู้ที่อยากทำวิจัยเรื่องนี้ด้วย ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้มาเริ่มต้นที่เล่มนี้

“อาจารย์ได้ให้ภาพรวมของชนชั้นนำ ซึ่งไม่ได้ให้แค่ภาพรวมแต่ได้ให้ลิสต์ที่จะไปต่อยอด ถ้าผมเป็นผู้เริ่มต้นทำงานวิจัย ผมก็คงจะมาเริ่มต้นที่หนังสือของอาจารย์อย่างแน่นอน เพราะหนังสือของอาจารย์มันไม่ใช่แค่เล่มเดียวจบ แต่ในเชิงอรรถยังมีแหล่งให้ไปศึกษาต่อยอดได้อีก” รศ.ดร.ภูริกล่าว

รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ กล่าวชื่นชมผลงาน ‘The Ruling Game: ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

ขณะที่ ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ รุ่นใหญ่ตัวจริงจากคณะศิลปศาสตร์ มองว่า เป็นหนังสือที่อ่านง่าย งานวิชาการจะเขียนให้อ่านง่ายนั้นยากมาก แต่หนังสือเล่มนี้ใช้ภาษาได้ดี ย่อยงานวิชาการยากๆ ให้กระชับ ตรงประเด็น

“เนื่องจากว่าภาษาวิชาการค่อนข้างยาก โครงสร้างภาษาไทยต่างจากภาษาอังกฤษเยอะ ถ้าอ่านภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นภาษาไทยบางทีจะมีความแปลก อ่านไม่รู้เรื่อง แต่อาจารย์เป็นคนมีความสามารถ สื่อสารเข้าใจ ตรงประเด็น กระชับ ในช่วงที่เป็นศัพท์เฉพาะท่านก็มีการเลือกมาใช้ได้อย่างเฉียบคม ไม่ได้ใช้มากมาย ทำให้เนื้อหาโดยรวมดูน่าอ่าน” ศ.ดร.นภดลเผย

ซูมชุดความคิด ‘บิ๊กตู่’ ประเมิน ‘บิ๊กป้อม’ ปฏิรูปกองทัพ เป็นไป (ไม่) ได้ !?

จากการรีวิวหนังสือ มาสู่ช่วงเวลาของถาม-ตอบที่เข้มข้น โดยในตอนหนึ่ง ผู้เข้าร่วมเสวนาถามว่า เคยวิเคราะห์กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ในชนชั้นทหารนักปกครอง ในปัจจุบันเรายังมองเห็นภาพนั้นอยู่หรือไม่ หรือแตกต่างไปอย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.ดุลยภาคตอบว่า การทําความเข้าใจชุดความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าใจเส้นทางการเติบโตจนขึ้นสู่ตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

“พล.อ.ประยุทธ์เป็นทหารแท้ๆ …อนุรักษนิยมแท้ ผมคิดว่า ณ วันนี้ชุดความคิดท่านก็ยังต้องเอาอนุรักษนิยม แล้วดูความมั่นคงของประเทศโดยดูมุมมองของกองทัพ โดยเฉพาะจากประสบการณ์การที่ท่านเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก… แต่ปัจจุบันมีการปรับในแง่ที่ว่า เผด็จการทหารแบบเข้มข้นยุค คสช. เปลี่ยนมาเป็นเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นรัฐบาลผสมในระบอบไฮบริดที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยนี้

“4 ปีที่ผ่านมา ที่นําโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมต่างๆ แต่ทีนี้ 2 ป. ก็แตกกันแล้วในทางการเมือง จะบรรจบกันได้อีกหรือเปล่า ก็ว่ากันใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ชัดคือ คุณประยุทธ์ก็ยังยึดมั่นในแนวทางเดิมอยู่ ต้องเป็นพรรคแบบพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคขวาจัด อนุรักษนิยม” รศ.ดร.ดุลยภาควิเคราะห์

นอกจากนี้ ยังมีผู้สอบถามว่า กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและแคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า จะก้าวข้ามความขัดแย้งนั้น มีความคล้ายคลึงกับอินโดนีเซียที่ใช้ศิลปะทางการทูตช่วยกันปฏิรูปกองทัพหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ผู้นำอย่าง พล.อ.ประวิตรจะขึ้นมาปฏิรูปกองทัพ?

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ตอบว่า การปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในสมัย สุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน หรือ SBY แต่เริ่มก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ว่า SBY ทำให้มันไปได้ไกลขึ้น เนื่องจากว่าเป็นทหารสาย Soft liner แต่ปัญหาก็คือ SBY มีบทบาทในการเป็น Soft liner เพื่อปรองดองมาตั้งแต่สมัย 1971 แล้ว อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรเพิ่งเปิด จึงไม่แน่ใจว่าตอนนี้จะทันหรือไม่?

“อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ดิฉันค่อนข้างคิดว่ากองทัพจะไม่ยอมปฏิรูปตัวเองง่ายๆ อย่างของอินโดนีเซีย ก็คือโดนกดดัน โดนประท้วงหนัก ไม่ปฏิรูปไม่ได้ แล้วคนที่ริเริ่มปฏิรูปจากในกองทัพเองก็มี หลายกลุ่มหลายฝ่ายมาก

“อาจจะมีแนวทางที่ดี แต่ไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตรออกมาพูดเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ก็น่าสนใจที่เราอาจจะค้นหา ประวิตร 2 3 4 ในอนาคต เราอาจจะมีทหารสาย Soft liner ที่เน้นการปฏิรูปกองทัพจากข้างในเหมือนที่อินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทําให้ปฏิรูปกองทัพของอินโดฯสำเร็จ” ผศ.ดร.อรอนงค์ชี้

พ็อคเก็ตบุ๊ก หนังสือ ตำรา ไม่ว่าจะเรียก The Ruling Game ว่าอะไร ก็เป็นอีกเล่มห้ามพลาด บนสถานการณ์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคร่วมสมัยที่รอวันเปลี่ยนผ่าน

ขวัญพรทัศ ธนูสิงห์