อัปเดต 3 วัคซีนโควิดพันธุ์ไทย ลงทุนเพื่ออนาคต แม้การระบาดคลี่คลาย

คุยกับ ผอ.สถาบันวัคซีน อัปเดต 3 วัคซีน สายพันธุ์ไทย อยู่ในขั้นตอนทดลองกับคน เฟส 1 และ เฟส 3 ชี้เด็กเกิดใหม่ก็สำคัญ เพราะในสังคมยังมีเชื้ออยู่…

สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด จากการอัปเดต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 761,402,282 ราย มีผู้เสียชีวิต 6,887,700 ศพ ในขณะที่การฉีดวัคซีน รวมทั้งสิ้น 13,321,840,096 โดส (ข้อมูล 1 เม.ย.66)

สำหรับ 5 อันดับประเทศที่ติดเชื้อโควิดสูงสุด ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา 102 ล้านคน
2. จีน 99 ล้านคน
3. อินเดีย 44 ล้านคน
4. ฝรั่งเศส 38.6 ล้านคน
5. เยอรมนี 38.3 ล้านคน

ผู้เสียชีวิต
1. สหรัฐอเมริกา 1,117,054 คน
2. บราซิล 699,917 คน
3. อินเดีย 530,841 คน
4. รัสเซีย 397,146 คน
5. เม็กซิโก 333,449 คน

คำถามยอดฮิต ณ พ.ศ.นี้ เรายังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่ มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ หรือเปล่า… กับ 2 คำถามใหญ่นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เผยว่า ตอนนี้ความกังวลทั่วโลกลดน้อยลง สาเหตุเพราะประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน จากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ

แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือ การกลายพันธุ์ของไวรัส ต้องจับตาว่าจะมีผลอย่างไร กับระดับภูมิคุ้มกันที่เรามีอยู่ หากจะเกิดผลกระทบ ก็มักเกิดกับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีโรคร่วม โดยเฉพาะกลุ่ม 607 อาจจะไม่รวมกลุ่มหญิงตั้งครรภ์แล้ว เพราะปัจจุบันมีผลน้อยลง เพราะหากมีการฉีดวัคซีนแล้ว ภูมิคุ้มกันก็เพิ่มขึ้นได้โดยดี กลับกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ บางครั้งได้รับวัคซีนแล้ว ก็เพิ่มขึ้นได้ไม่ดีนัก

“ฉะนั้น แนวทางในอนาคต ความจำเป็นของวัคซีน ก็จะเน้นไปที่ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคร่วม” นพ.นคร กล่าว

วัยรุ่น คนแข็งแรง กับวัคซีนบูสต์

เมื่อถามว่า คนทั่วไป ที่มีร่างกายแข็งแรง เคยรับวัคซีน จำเป็นต้องบูสต์อีกไหม ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอบว่า “ผมจะไม่ใช้คำว่า “ไม่จำเป็นต้องฉีด” เพราะใจจริงก็อยากให้ประชาชนมารับเข็มกระตุ้น เพราะเราไม่อยากให้ถ่ายทอดโรคไปยังคนที่บ้าน ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล โดยเฉพาะการไปทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน หมั่นล้างมือ การสัมผัสต่างๆ ควรคงไว้กับมาตรการเหล่านี้อยู่

“ถ้าไม่ต้องการฉีดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าต้องการเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะคนสูงอายุ หรือมีโรคร่วม ก็แนะนำให้มาฉีด เพราะจากข้อมูลล่าสุด พบว่า ผู้ที่มีอาการป่วยหนักจากโควิด ยังคงเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 607 และที่น่าเสียดาย คือ จำนวน 50% ในนี้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ 2 เข็ม ฉะนั้นสิ่งที่เน้นย้ำคือ อย่างน้อยทุกคนต้องได้รับวัคซีนโควิดครบ 3 เข็ม”

ตอนนี้ เราใช้ชีวิตกันแบบ Near Normal คือ ใกล้ปกติเดิม ไม่ใช่ New Normal เราเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะที่ที่คนรวมตัวกัน

คนที่ฉีดวัคซีน 4-5 เข็ม แล้วห่างมา เกิน 6 เดือน ควรตัดสินใจอย่างไร หมอนคร ตอบสั้นๆ ว่า เราต้องประเมินความเสี่ยงส่วนบุคคล เราอยู่ในอยู่ในงานพบปะคนหมู่มากหรือไม่ บ้านเรามีคนสูงอายุหรือเปล่า

“ถ้าอยากฉีดก็ได้ ไม่ฉีดก็ไม่เป็นไร ให้ประเมินตามปัจจัยแต่ละคน”

คืบหน้า “วัคซีน” รุ่นใหม่ ประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากของเดิม

สำหรับความคืบหน้าในประเด็นวัคซีนรุ่นใหม่นั้น นพ.นคร เผยว่า เท่าที่ทราบตอนนี้มีบางประเทศบริจาคเข้ามาให้ประเทศไทย โดยที่เราไม่ได้ใช้เงินซื้อ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เปิดรับบริจาค แต่เขามีความประสงค์มอบให้เอง

“เขาให้เรา เราไม่ปฏิเสธ แต่เราก็เช็กก่อนว่าวัคซีนมีคุณภาพดีหรือไม่ เหมาะสมแก่การใช้หรือเปล่า ถ้าใช้ได้เราก็รับไว้”

ในมุมวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเดิม หรือ รุ่นใหม่ ผลในการลดความรุนแรงของโรค กับโอกาสเสียชีวิต ไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าเชื้อจะเปลี่ยนไป สาเหตุเพราะเราเจอ “โอมิครอน” ตลอดปี 2565 ตอนนั้นไม่มีวัคซีนรุ่นใหม่เลย แต่เมื่อฉีดไปแล้ว สถานการณ์โดยรวมของประเทศก็ดีขึ้น ทุกคนเห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

“เราไม่เจอสภาวะผู้ป่วยล้นเตียง ไม่มีปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะเราฉีดวัคซีนกันอย่างครอบคลุม แต่การมีผู้เสียชีวิต จำนวนหนึ่งก็มาจากการไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนกรณี วัคซีนรุ่นใหม่ ที่ใช้กับสาย “โอมิครอน” ปัจจุบัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านสายพันธุ์ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ การกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ฉะนั้น เราจึงต้องจับตาดูอยู่เรื่อยๆ”

อาการ “ลองโควิด” 

นพ.นคร กล่าวถึง อาการ “ลองโควิด” ว่า เท่าที่ดูจากงานวิจัยล่าสุด ก็ยังไม่มีอัปเดตอะไรมาก ทุกอย่างยังคล้ายเดิม คือ คนที่ป่วยหนัก ภูมิแพ้มากขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่า

1. หากคนที่ป่วยโควิดมาก ป่วยมาก ก็จะมีอาการลองโควิดมากและนานขึ้น
2. คนที่มีโรคอยู่เดิม เช่น คนเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว เป็นโควิดแล้ว ก็จะมีอาการลองโควิดด้วยการเป็นภูมิแพ้มากขึ้น ก็เป็นได้…

“แต่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัด ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะเป็นลองโควิดทุกคน”

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ทั่วโลก ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะกลุ่มเหล่านี้ยังไม่ได้รับวัคซีน ส่งผลให้มีโอกาสติดและเกิดโรครุนแรงได้

อย่างไรก็ดี วัคซีนในปัจจุบัน ถือว่ามีความปลอดภัยสำหรับเด็ก และ องค์การอาหารและยา ก็อนุญาตให้ใช้กับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว

“สิ่งที่ต้องการสื่อ คือ ยังมีเด็กที่สามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะบางคนติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อย บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองติด แต่จะอันตรายหากนำไปติดเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน”

เมื่อถามว่า โอกาสที่จะกลับมาระบาดครั้งใหญ่ เป็นอย่างไร หมอนคร ตอบสั้นๆ ว่า “น้อยแล้ว เพราะไวรัสไม่ได้แผลงฤทธิ์เหมือนเดิม แต่โอกาสการติดเชื้อโควิด ไม่เคยเป็นศูนย์ ไม่ว่าคนที่เคยติดมาแล้ว หรือคนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่เคยติดก็ตาม ซึ่งเวลานี้มันคือโรคประจำถิ่น”

ความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19 ของไทย

สำหรับความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนของไทย ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยว่า ตอนนี้วัคซีนของ องค์การเภสัชกรรม อยู่ในเฟส 3 ซึ่งมีการทดสอบในคน 3,000-4,000 คน ในจังหวัดนครพนม คาดว่าอีก 3-4 เดือน จะรู้ผลว่าเป็นอย่างไร

ส่วนกรณีของ วัคซีนจุฬา (Chula-Cov19) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ “วัคซีนใบยา” ทีมคณะเภสัช จุฬาฯ อยู่ในขั้นตอน เฟส 1 ซึ่งเป็นการทดสอบในคนระยะที่ 1 จำนวนไม่มาก 20-30 คน ซึ่งการทดสอบจะเป็นการทดลองแบบขั้นบันได

เมื่อถามว่า การเริ่มผลิตวัคซีนด้วยตัวเอง ถือเป็นการปูพื้นฐานองค์ความรู้ในการด้านการจัดการไวรัส หรือแก้ปัญหาโรคระบาดในอนาคต หรือไม่ หมอนคร ตอบว่า การสร้างศักยภาพของประเทศในช่วงโควิด-19 เรามีการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

“ศักยภาพที่เราพัฒนานั้น หากในอนาคตมีโรคติดต่อจากไวรัสอีก เราจะนำศักยภาพที่มีอยู่ มาใช้รับมือโรคติดต่อแบบใหม่ในวันข้างหน้าได้ จากการที่เราลงทุนช่วงโควิด-19 เราเดินมาไกลมาก ของเดิมเราไม่มีต้นทุนเรื่องนี้น้อย หรือแทบไม่มี แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนสถานการณ์ใหม่แล้ว หากพรุ่งนี้เราเจอวิกฤติเรื่องนี้อยู่ ประเทศเราก็พร้อมที่จะรับมือกับมันได้ โดยนอกจากประเทศไทย ก็มีทีมวิจัยของเวียดนามที่ทำเช่นเดียวกัน แต่…การทำงานวิจัยไม่ใช่การแข่งขัน สิ่งสำคัญคือ หากประเทศเพื่อนบ้านมีเทคโนโลยีเรื่องนี้ ก็จะช่วยเสริมแรงในการรับมือ หากมีการระบาดครั้งใหญ่อีกครั้ง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ