ชัยวุฒิ เชื่อมั่นเศรษฐกิจดิจิทัลไทยพุ่งแตะ 30% ของจีดีพี ภายในปี 2573
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงาน Powering Digital Thailand 2022 ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) โดยตลอดระยะเวลาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ Data Economy ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านสำคัญๆ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีความก้าวหน้าอย่างมาก จากรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยสถาบัน IMD พบว่า ในด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นจาก อันดับ 29 สู่อันดับที่ 22 โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใช้สาย และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม
“ขอยกตัวอย่างถึงเครือข่าย 5G และผู้ใช้งาน 5G ของประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของอาเซียน และอันดับต้น ๆ ของโลก ผมขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้ 5G เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติของประเทศไทย และได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่าง ๆ ทั้งนโยบายคลื่นความถี่ และการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม” นายชัยวุฒิกล่าว
2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็น 17% ของจีดีพีประเทศ จากนั้นขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ซึ่งถือเป็น 2.5 เท่าของอัตราการเติบโตของจีดีพีในประเทศ แม้เผชิญสถานการณ์โควิด–19 ที่ส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของประเทศลดลง แต่เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศไทยยังคงมีความเคลื่อนไหว และเติบโตในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2563 และ 2564 พบว่าอัตราการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจำนวนผู้ใช้บริการช่องทางออนไลน์ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นกว่า 300% ขณะที่ ตลาดคลาวด์ของประเทศไทยซึ่งเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ยังมีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นถึง 3 รายด้วยกัน
และ 3.การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้มีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายและสัญญาณไร้สาย ให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะช่วยรับประกันและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษาทางไกลในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งยังช่วยให้กลุ่มเอสเอ็มอีและเกษตรกร สามารถพัฒนาระบบการจัดการลูกค้าผ่านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มคลาวด์
อีกทั้งยังช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขสำหรับในพื้นที่ชนบท โดยการใช้ระบบการปรึกษาทางไกล จะช่วยให้คลินิกในพื้นที่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลกลาง เพื่อพัฒนาการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมลดความเสี่ยงการสัมผัสไวรัส
“หน่วยงานซึ่งกำกับดูแล จะยังคงส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการสนับสนุนการเพิ่มเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ผ่านทางการบังคับใช้นโยบายและเงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป ขณะเดียวกัน ความท้าทายในอนาคตจากปัจจัยเรื่องโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังนับเป็นปัจจัยเร่งด่วน ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำโดยเร่งด่วน ซึ่งในอีกแง่หนึ่ง ปัจจัยดังกล่าวก็ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการส่วนใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้ได้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะเติบโต และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของจีดีพีประเทศได้ และเชื่อว่าภายในปี 2573 หรือเร็วกว่านั้น เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะพุ่งไปถึง 30% ของจีดีพี” นายชัยวุฒิ กล่าว