“IRPC” รับเมกะเทรนด์โลก รุกสร้างนวัตกรรมวัสดุ-พลังงานแห่งอนาคต เพิ่มพอร์ตผลิตภัณฑ์พิเศษแตะ 30% ในปี 2567

IRPC พร้อมรับกระแสโลกเปลี่ยน สร้างนวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนรับเทรนด์โลก วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) สูงถึง 30% ภายในปี 2567 รุกผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านสุขภาพ และส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ได้แถลงข่าว “An Era of Smart Materials” IRPC พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบในอนาคต ผ่านระบบ Microsoft Teams ของช่วงเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเผยถึงแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ IRPC ในปีนี้ว่า จากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงกระแสโลก ซึ่งถือเป็น Global Megatrends ที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคมและความเป็นอยู่ของประชาคมโลก โดยเฉพาะหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก เทรนด์ที่คนทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพ การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“ทุกองค์กรไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ก็อยู่ในภาวะของความท้าทาย เช่นเดียวกันกับ IRPC เราจะต้องดูแลให้องค์กรของเราซึ่งมีส่วนสำคัญในเรื่องของการดำเนินธุรกิจ และช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจของเราสามารถที่จะดำเนินการภายใต้ภาวะวิกฤตนี้ เท่าที่ผ่านมาเราสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี และพร้อมมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่จะใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนองค์กร”

หนึ่งในการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนองค์กร ในปีที่ผ่านมารวมถึงไตรมาสแรกของปีนี้ IRPC ได้นำร่องที่จะใช้ RPA หรือ Robotic Process Automation มาช่วยในการทำงานในส่วนงานของ CSO ซึ่งจากการทดลองใช้ตัว RPA พบว่าสามารถช่วยลดเวลาทำงานซึ่งเป็นการทำงานแบบซ้ำๆ โดยกล่าวได้ว่าโปรแกรมข้างต้นสามารถทำงานทดแทนได้กว่า 85% ช่วยลดบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลาได้ถึง 4 คน

  • IRPC ลุยใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง

“IRPC” ลงนามร่วมกับ “ปตท.” เพื่อเน้นย้ำว่า IRPC เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนตามทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ และมุ่งสู่การเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่ลงนามมีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน คือ 1. เกี่ยวกับการพัฒนา “Value Chain” หรืออุตสาหกรรมที่จะต่อเนื่องกับ “ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric)” และ 2. เกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นไปได้ในการทำ “ธุรกิจถุงมือยาง” ที่ทำจากยางสังเคราะห์ โดยจะเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ ใช้แล้วจะไม่แพ้ ทั้งนี้ จากการลงนาม 2 ฉบับดังกล่าว จึงนำมาสู่แผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ IRPC ในปีนี้ ที่จะเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบในอนาคต ด้วยการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ IRPC เติบโตอย่างยั่งยืน

นายชวลิต กล่าวว่า IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty) จาก 17% เป็น 30% ภายในปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ในการใกล้ชิดเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น (Human centric) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ

  • ปักหมุดเป็นเรือธง สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น

IRPC ได้ตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้ร่วมทุนกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ปตท. ถือหุ้น 100%) จัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด โดย IRPC ถือหุ้น 60% เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่ Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และจะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub

สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ซึ่งมีลักษณะเส้นใยขนาดเล็ก และละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่ IRPC ได้วิจัยและพัฒนาเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น เช่น ถุงอาหาร ถุงเลือด และถุงล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ผลิตจากเม็ด PP และผลิตภัณฑ์ NBL หรือ Nitrile Butadiene Latex ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตถุงมือแพทย์ ร่วมกับองค์กร ทั้งเอกชน และภาครัฐ สอดรับกับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

“เราพยายามอย่างยิ่งที่จะต่อยอดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ที่ IRPC มีอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการ ตามทิศทางความต้องการของโลก ผ้าไม่ถักไม่ทอ ถือเป็นเรือธงของเราที่จะแสดงให้เห็นว่า ทั้ง ปตท. และ IRPC ร่วมกัน เพื่อดำเนินการให้ IRPC เป็น Flagship ในเรื่องของการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยใช้ตัวผ้าไม่ถักไม่ทอเป็นวัตถุดิบ ยกตัวอย่างเช่น หน้ากากอนามัย N95 หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ชุดป้องกันการติดเชื้อ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่จะนำไปใช้ทำฟิลเตอร์กรองอากาศ โภคภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถุงกาแฟ ผ้าอ้อมเด็ก เราอยากให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในเชิงการแพทย์ มีวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับโลกและสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกด้วย”

นายชวลิต เผยอีกว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทไปเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการสั่งซื้อเครื่องจักร และกำหนดพื้นที่ในการจัดตั้งโรงงานในเขตประกอบการของ IRPC คาดหมายว่าผลิตภัณฑ์ล็อตแรกตาม Road Map ซึ่งจะทำจากผ้าไม่ถักไม่ทอ ดำเนินการผลิตได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนปีหน้าเป็นต้นไปจะขึ้นรูป และดำเนินการเพื่อให้มีการทดสอบและใช้งานจริง และพยายามต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งจะมีชั้นวัสดุที่มากกว่า ขณะเดียวกันก็หวังว่าองค์ความรู้ของ IRPC จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น ช่วยส่งเสริมเกษตรกร และในอีกแง่มุมหนึ่งก็มองว่าการนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะสามารถช่วยในเรื่องของการทำให้ตัวสารต่างๆ ในตัวเครื่องสำอาง ทำงานได้ดีขึ้น ที่มองในเรื่องนี้ด้วย เพราะ IRPC ก็มีความแข็งแกร่งในด้านนี้เช่นเดียวกัน

  • เบนเข็มหาเทรนด์พลังงานทางเลือก

นายชวลิต กล่าวว่า เทรนด์ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) เติบโตอย่างมาก ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้แผนการลงทุน EEC และ Roadmap การใช้รถยนต์ EV ในประเทศไทยปี 2578 และถือเป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ EV อยู่ในทิศทางที่เติบโตมากขึ้น

“ในเรื่องของผลิตภัณฑ์รถ EV โจทย์แรกคือ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเพื่อรองรับการเติบโตโดยทดแทนการเติบโตนั้นจากพลังงานทางเลือก ถึงแม้ว่าปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังมีอยู่ รถยนต์ที่สันดาปภายในยังมีอยู่ เพียงแต่เราต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีมาตรฐานดีขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก รถ EV มีเรื่องท้าทายในเรื่องของน้ำหนักที่จะต้องมีน้ำหนักเบา ความจุแบตเตอรี่ เราก็พยายามปรับปรุงหรือหาทางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าไปตอบโจทย์ตัวแนวโน้มของ EV”

IRPC อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-Ion Electrode นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound : PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการผลิตและอยู่ในระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เป็นปัจจัยบวกสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เพราะมีทิศทางความต้องการใช้พลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตของรถยนต์ EV ในสัดส่วนต่อคันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50

“เหล่านี้ก็จะทำให้ระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า เรามีสัดส่วนในเรื่องของปริมาณโพลิเมอร์ของบริษัทเราที่เข้าในตลาดรถยนต์มากขึ้น ซึ่งเราจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับพันธมิตรทางธุรกิจ” นายชวลิต กล่าวทิ้งท้าย