21 เม.ย.64 – นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม Resolution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกำลังล่ารายชื่อประชาชนแก้รัฐธรรมนูญภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” กล่าวถึงการแถลงข่าวของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี โดย น.ส.ธิษะณา กล่าวว่า ระบอบสามกีบที่นายวรงค์กล่าวอ้างนั้นไม่มีจริง เป็นเพียงการนั่งเทียนกล่าวหาประชาชนเท่านั้น และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เท่ากับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การล้มล้างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นผ่านการรัฐประหารทั้งนั้น รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่นายวรงค์พยายามปกป้องก็มีที่มาจากการรัฐประหารเช่นกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีปัญหาทั้งในเชิงเนื้อหาและความชอบธรรม ได้สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยไม่จบไม่สิ้น และมีเจตนาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
การแก้ไขต้นตอของวิกฤตการเมืองและวิกฤตอื่นๆ ในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมุ่งทลายปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญของกลไกการสืบทอดอำนาจจากระบอบประยุทธ์และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุให้พวกเราได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ล้มวุฒิสภา – เดินหน้าสภาเดี่ยว 2.โละศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ 3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูป – ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ 4.ล้างมรดกรัฐประหาร – หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าการแก้ไขรายมาตราจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์เพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราในครั้งนี้ ก็ได้เปิดให้ทุกคนซึ่งมีสิทธิลงชื่อตามกฎหมายมาร่วมกันเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยในปัจจุบันก็มีประชาชนมาลงชื่อกันทั้งในงานเปิดแคมเปญ และการส่งเอกสารทางจดหมาย
“ไม่แน่ใจว่าการแถลงข่าวของนายวรงค์ครั้งนี้ ต้องการ ‘ตีวัวกระทบคราด’ หรือไม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐต่างหาก ที่เสนอให้เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบ ซึ่งการแก้ไขระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าประเทศไทย เช่น ประเด็น ส.ว. ที่มีอำนาจสูงมาก ทั้งโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สวนทางกับที่มาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่กลับไม่มีการเสนอแก้ไขกัน” นาวสาวธิษะณา กล่าว
นางสาว ธิษะณา กล่าวด้วยว่า นายวรงค์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ส. จะเข้าไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มนายทุนและเป็นนอมินี ซึ่งถ้ามองจากข้อเท็จจริง นี่คือสิ่งที่ ส.ว. ทั้ง 250 คนกำลังทำอยู่โดยไม่มีแตกแถวแม้แต่คนเดียว ยกมือเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ร้ายกาจกว่านั้นคือ ส.ว. 250 คนนี้มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งก็มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า และยังเป็นคนเดียวกับที่นายวรงค์และพรรคพวกสมคบกันล้มการเลือกตั้ง สร้างความวุ่นวาย จนเป็นข้ออ้างให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 อีกด้วย ดังนั้น การยกเลิก ส.ว. และทำให้การทำรัฐประหารมีความผิด จึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่ม Resolution ด้วย.