รัฐบาลโชว์แผนฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ปีนี้! พร้อมเผยแหล่งจัดซื้อ จะเป็นจริงแค่ไหนมาดูกัน

ก่อนอื่นสารภาพเลยว่าผมดราฟต์สกู๊ปชิ้นนี้ไว้หลายวันแล้วครับ จากตอนแรกจะเอาแผนทั้งหมด แล้วก็เปลี่ยนเป็นแผนเฉพาะหน้าของวัคซีนโควิดที่ตอนนี้บ้านเรามีอยู่ในมือแล้วกว่า 2 ล้านโดส (ข้อมูลอัปเดตล่าสุด: ช่วงเช้าของวันที่ 21 เม.ย. 64)

แต่สุดท้ายไปๆ มาๆ เมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) ระหว่างที่นั่งทำงานไป ประชุมงานไป แล้วได้ฟังนายกฯ ลุงตู่ แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ก็ดันบังเอิญได้ยินว่ามีพูดถึงเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิดแบบค่อนข้างได้น้ำได้เนื้อ ผมเลยเอาข้อมูลมานั่งไล่ดู ก็เลยตัดสินใจว่างั้นงานชิ้นนี้เอาเป็นแผนทั้งหมดเลยแล้วกัน แต่ต้องมีหมายเหตุเป็นดอกจันสำหรับคุณผู้อ่านทุกท่านไว้ตรงนี้นะครับว่า นี่คือแผนนะครับ ย้ำว่า นี่คือแผน ส่วนเรื่องจริงจะเป็นไปตามแผนหรือไม่นั้น เราคงต้องติดตามตอนต่อไป (เหมือนดูพวกซีรีส์เลยเนอะ แต่บอกได้เลยว่าตามลุ้นเรื่อง “วัคซีนที่รัก” นี่เหนื่อยน่าดูแฮะ)

เอาล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยครับ ผมขอเริ่มจากปริมาณวัคซีนโควิดที่ตอนนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วนะครับ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ยี่ห้อ 2 แหล่งที่มา ดังนี้

ซิโนแวค 2 ล้านโดส

24 ก.พ. จำนวน 2 แสนโดส, 20 มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส (ข้อมูลวันที่ของล็อตนี้มีหลายวันมากเลย แต่สุดท้ายผมอ้างอิงจากคลิปและภาพขององค์การเภสัชกรรมที่ระบุว่ารับมอบเมื่อ 20 มี.ค.) และ 10 เม.ย. จำนวน 1 ล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส

เข้ามาครั้งเดียวในวันที่ 24 ก.พ.

รวมแล้ว ณ ปัจจุบัน บ้านเรามีวัคซีนโควิดจำนวน 2,117,600 โดสหรือเข็ม

แล้วในจำนวนนี้ฉีดไปแล้วเท่าไหร่?

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. – 19 เม.ย. 64 มีจำนวน 666,210 โดส ใน 77 จังหวัด โดยจัดสรรวัคซีนไปแล้ว รวมทั้งหมด 1,161,849 โดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 1,074,669 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 87,180 โดส แบ่งตามพื้นที่เสี่ยง กทม. มากสุด 116,523 โดส (เข็มแรก) รองลงมา ภูเก็ต (93,805 โดส) และสมุทรสาคร (84,255 โดส) พร้อมกับย้ำว่าการฉีดดังกล่าวเป็นไปตามเป้า

ขณะที่เมื่อวานนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 6 แสนโดส หรือ 3 แสนราย ให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อดันยอดฉีดวัคซีนรวมเกิน 1 ล้านโดส โดยจะเป็นการกระจายวัคซีนจากของซิโนแวคในล็อต 1 ล้านโดส พร้อมกับเร่งรัดการฉีดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้

มาสรุปกันอีกที จากวัคซีนที่มีอยู่ 2,117,600 โดส มีการฉีดไปแล้ว 666,210 โดส หรือคิดเป็นอัตราการฉีด 31.46% จากปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ในมือ

แน่นอนว่าใครเห็นตัวเลขที่ว่านี้ ก็คงจะฟันธงได้ว่าบ้านเรามีการฉีดวัคซีนได้ “ช้าเกินไป” ผมขอยกตัวอย่างจากที่หอการค้าไทยจัดการประชุมร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย ซึ่งระบุว่า “ผลสรุปจากการประชุม CEO ทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน…”

อัปเดตแผนการล่าสุด

ทีนี้ผมขอพามาดูข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวาน (อะไรๆ ก็ออกมาเมื่อวาน นัดกันใช่มั้ยเนี่ยยยยย) ในที่ประชุม ครม. มีระเบียบวาระ เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 5/2564

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ มีการรายงานให้ ครม.รับทราบถึง “แผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” จากที่ประชุม ศบค. โดยมีรายละเอียดดังนี้

แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564

  1. วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 2,500,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564)
  2. วัคซีน AstraZeneca จำนวน 26,000,000 โดส (เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564)
  3. วัคซีน AstraZeneca จำนวน 35,000,000 โดส (เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564)

การจัดสรรจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการ

ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2564 รวมจำนวน 1,043,589 โดส โดยได้จัดส่งวัคซีนของบริษัท Sinovac จำกัด ถึงหน่วยบริการเป้าหมายใน 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว จำนวน 957,429 โดส และจัดส่งวัคซีนของบริษัท AstraZeneca จำกัด ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 86,160 โดส

การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 77 จังหวัด

มีจำนวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 586,032 โดส จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 510,456 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 75,576 ราย โดยจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนี้

1) บุคลากรสาธารณสุข 2) เจ้าหน้าที่อื่นๆ 3) ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 4) ผู้ที่มีโรคประจำตัว 5) ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง มีรายละเอียด ดังนี้

การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 77 จังหวัด

แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย ภายในปี 2564 ดังนี้

แผนจัดหา-กระจายฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยปี 2564

ข้อเสนอแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Sinovac) จำนวน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564

  1. ควบคุมการระบาดในพื้นที่สีแดง 100,000 โดส
  2. พื้นที่ 77 จังหวัด แบ่งเป็น ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 599,800 โดส และตำรวจและทหารปฏิบัติงานด่านหน้า 54,320 โดส
  3. สำรองส่วนกลาง 98,680 โดส

ข้อเสนอแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Sinovac) จำนวน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564

ความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ดังนี้

  1. ควรเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรของประเทศและพิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือกชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์กลายพันธุ์จากต่างประเทศซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล เป็นต้น รวมทั้งควรเตรียมความพร้อมระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. ควรให้ความสำคัญในการชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) วัคซีนที่ให้บริการในประเทศไทยมีคุณภาพและมีความปลอดภัย และ (2) การให้ประชาชนได้รับทราบแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ชัดเจน
  3. ให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางในการให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการกระจายและฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยอาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน หรือการให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวแทนในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เพื่อให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานภาคเอกชนได้นำไปใช้ รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เสี่ยงในระยะเร่งด่วน และสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 1 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง
  • สัปดาห์ที่ 2 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปานกลาง
  • สัปดาห์ที่ 3 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปานกลาง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำ
  • สัปดาห์ที่ 4 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำ

2. ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศปก.มท.) ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และให้มีการเปิดรับอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนรถพยาบาล รถกู้ชีพ และรถกู้ภัยต่างๆ เพื่อช่วยในเรื่องการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

3. ให้โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความจำเป็นของการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกเมษายน 2564 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชน

ก่อนจะไปสรุปปิดท้าย ขอแปะข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดว่าเมื่อช่วงเช้าประมาณ 8 โมงของวันนี้ (21 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ที่เป็นการรายงานความคืบหน้าของการจัดหาวัคซีนโควิดในประเทศไทยว่า “จากการหารือทุกฝ่าย ได้ข้อยุติว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส ในจำนวน 35 ล้านโดส ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย ก็จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย ประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งก็จะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงไปอีก สำหรับกระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน ธันวาคม 2564 นี้”

สรุปแผนการจัดหา-กระจายฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทย

บรรทัดต่อจากนี้ เป็นการเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลของผมเองนะครับ

ผมเข้าใจว่าตามแผนที่วางเอาไว้ ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิดประมาณคร่าวๆ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 ถามว่ามาจากไหนบ้าง ลองดูตามนี้ครับ

  1. ซิโนแวค รวม 2.5 ล้านโดส (กำลังเจรจาเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ถ้าสำเร็จจะรวมเป็น 3.5 ล้านโดส) ทั้งหมดนี้เป็นการนำเข้าจากจีน
  2. แอสตร้าเซนเนก้า รวม 61.117 ล้านโดส (ผลิตในประเทศ 61 ล้านโดส นำเข้ามา 117,600 โดส)
  3. จัดหาเพิ่มเติมอีก 2-3 ยี่ห้อ ประมาณ 35 ล้านโดส (กลุ่มบริษัทเอกชนชั้นนำอาจจัดหาให้พนักงาน-ลูกจ้างของตนเอง ประมาณ 10-15 ล้านโดส)

ซึ่งตัวเลือกวัคซีน 2-3 ยี่ห้อ ก็น่าจะหนีไม่พ้น วัคซีน Moderna และ Pfizer จากสหรัฐฯ, วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics ของจีน, วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech แห่งอินเดีย และวัคซีน Sputnik V จากรัสเซีย เพราะทีมงานฝ่ายไทยอยู่ระหว่างกำลังเจรจากับบรรดาผู้ผลิตที่ว่ามานี้

โดยการกระจายฉีดให้กับประชาชนในวงกว้าง จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งมาจากล็อตที่แอสตร้าเซนเนก้าผลิตภายในประเทศผ่านบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันมาตลอด

หวังว่าแผนการที่วางเอาไว้จะไม่เจอ “โรคเลื่อน” ด้วยสาเหตุอะไรก็ตามอีกนะครับ แม้ผมจะเข้าใจดีว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมีโอกาสที่แผนจะถูกขยับปรับเปลี่ยนไปบ้างตามสถานการณ์ แต่ยังไงหลังจากนี้ก็ควรจะได้เห็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แผนการที่กำหนดไว้ เพราะเอาจริงๆ แล้วทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่าการที่ประชากรในประเทศได้รับวัคซีนในจำนวนที่มากพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะวิกฤตโควิด แม้ว่าในทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าวัคซีนอาจจะไม่สามารถป้องกันจากการติดเชื้อได้ 100% ก็ตาม

แต่ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนทุกฝ่ายพยายามทำความเข้าใจกันด้วยเหตุและผล ภาครัฐอธิบายข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็ “รับฟัง” และเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายที่สงสัย ไม่เข้าใจ หรืออยากจะนำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้น น่าจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนครับ

ขอทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า ผมเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าความขัดแย้งทุกเรื่องในบ้านเราสามารถหาวิธีการแก้ไขได้แน่นอนครับ ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดใจและพร้อมที่จะรับฟังกันอย่างแท้จริง การมี “พื้นที่ปลอดภัย” เพื่อพูดคุยและนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง แม้ที่ผ่านมาผมพยายามนำเสนอความเชื่อและแนวทางของตัวเองที่ว่ามานี้โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ก็ต้องบอกว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ไม่สนใจเลย ซึ่งผมพร้อมจะยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างของทุกคนอยู่แล้ว

เพียงแต่แค่คิดว่า ถ้าเราจะเลี่ยงการเผชิญหน้าและความขัดแย้ง ที่มีโอกาสอาจจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงแบบในอดีต ทำไมเราไม่ลองวางทิฐิหรือความเชื่อที่แตกต่างกันลง แล้วหันหน้ามาคุยกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งล่ะครับ