อดีตรองอธิการบดี มธ. ชี้ “มารยาททางการเมือง” ทำตามมติพรรค การเมืองไทยถึงได้ไปไม่ถึงไหน

“หริรักษ์ สูตะบุตร” ระบุอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ไม่ลงคะแนนตามมติพรรคจำนวนมาก ชี้ “มารยาททางการเมือง” ทำการเมืองไทยย่ำอยู่กับที่ เป็นการเมืองน้ำเน่า วอนเปลี่ยนคำนิยามได้แล้ว

วันนี้ (22 ก.พ.) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า “เมื่อมีการลงมติกันในสภาผู้แทนราษฎร เราก็มักจะได้ยินคำว่า “มารยาททางการเมือง” เกือบทุกครั้ง

ส่วนใหญ่เราได้ยินคำว่า มารยาททางการเมือง ก็เมื่อมี ส.ส.ไม่ลงคะแนนตามมติพรรค หรือไม่ลงคะแนนสนับสนุนกฎหมาย หรือญัตติที่พรรคตัวเอง หรือพรรคร่วมที่เป็นพันธมิตร เช่น พรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ

ล่าสุด ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เกิดปรากฏการณ์ที่ ส.ส.ไม่ลงคะแนนตาม “มารยาททางการเมือง” เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ 6 คนงดออกเสียง ไม่ลงคะแนนไว้วางใจให้กับคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน 4 คน ลงคะแนนไว้วางใจให้กับคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย เป็นผลให้คุณอนุทินได้คะแนนการไว้วางใจสูงสุดเหนือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทุกคน

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล 3 คน งดออกเสียง ไม่ลงคะแนนไว้วางใจให้กับใครเลย รวมทั้งคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตัวเอง

ส.ส.พรรคเพื่อชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน 3 คน ลงคะแนนไว้วางใจให้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ

ส.ส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน 1 คน ลงคะแนนไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ หากไม่นับคุณชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาแล้ว ยังปรากฏชื่อ ส.ส.ที่งดออกเสียง และไม่ลงคะแนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอีกหลายคน

ส.ส.ที่ลงคะแนน งดออกเสียง หรือไม่ลงคะแนนตามมติพรรค หรือไม่ลงคะแนนให้กับพรรคร่วม ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ละคนอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนถูกมองว่า เป็นการไม่ทำตามมารยาททางการเมือง

การมีมารยาททางการเมืองในที่นี้จึงหมายถึง “การทำตามมติพรรค หรือการลงคะแนนสนับสนุนพรรคพวกที่เป็นพรรคร่วม หรือเป็นพันธมิตร แม้จะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ หรือไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง หรือเป็นการฝืนความรู้สึกของตัวเอง ก็ตาม”

เมื่อความหมายของการมีมารยาททางการเมืองเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เหตุใดการเมืองไทยยังคงไม่ไปไหน ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม ยังคงเป็นการเมืองน้ำเน่าอย่างนี้เรื่อยไป

น่าจะเปลี่ยนคำนิยามของคำว่า “มารยาททางการเมือง” ได้แล้วนะครับ”