เงินเดือนสายงานไอที เริ่มต้น 15,000 จนถึง 650,000 ต่อเดือน เอ็กซ์พีริส เผย ความต้องการแรงงานไอทียังเพิ่มต่อเนื่อง พร้อมเจาะลึกสายอาชีพโตสูง รับยุคดิจิทัล
เอ็กซ์พีริส บริษัทในเครือ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลสำรวจแนวโน้มตลาดงานด้านไอที ที่มีความต้องการสูงรองรับยุคดิจิทัล จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของเทคโนโลยี เร่งภาคธุรกิจขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ พร้อมเปิด เงินเดือนสายงานไอที เริ่มต้น 15,000 จนถึง 650,000 ต่อเดือน
นายไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งแรงงานต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือ
แต่สำหรับบุคลากรสายงานไอที นับเป็นกลุ่มงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง และยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย จากการคาดการณ์ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า จะเห็นว่าทิศทางความต้องการในสายงานไอที ยังคงเติบโตเป็นแบบขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนบุคลากรไอทีในตลาดงานที่ไม่เพียงพอ และอยู่ในภาวะขาดแคลน
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักเป็นตัวขับเคลื่อน ให้สายงานไอทียังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), Robotic Process Automation (RPA), บิ๊กดาต้า (Big Data), คลาวด์ (Cloud), อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things-IoT) และฟินเทค (Fintech) ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงธุรกิจ ทำให้มีความต้องการบุคลากรไอทีจำนวนมากเข้ามาช่วยในส่วนนี้
- ในทุกภาคส่วนของธุรกิจมีการเร่งทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล ซึ่งกลุ่มที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มธนาคารและการเงิน, กลุ่มการประกันภัย, การสื่อสาร, ธุรกิจค้าปลีก, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มทรัพยากรบุคคล, ภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น
- การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น
- การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด (COVID-19) เป็นอัตราเร่งให้ทุกองค์กร มีการปรับวิถีชีวิต และการทำงานสู่ วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทำให้รูปแบบการทำงานขององค์กรเปลี่ยนไปเป็นการทำงานแบบรีโมท (Remote Work) และทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงดีมานด์ (Demand) การเติบโตของแรงงานไอทีในตลาด พบว่าในบางช่วงมีการชะลอตัวลงเช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาในช่วงไตรมาส 2 หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเพิ่มมากขึ้นเป็นวงกว้างในหลายประเทศ ทำให้เกิดการล็อคดาวน์
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มองค์กรมีการปรับแผน และชะลอการจ้างตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งมีเหตุผลมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เบื้องหน้า แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 เริ่มมีการกลับมาของความต้องการบุคลากรด้านไอทีที่มากขึ้น และรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในประเทศไทยและทั่วโลก ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอที จากข้อมูลผลสำรวจการเติบโตของตลาดไอทีทั่วโลกของไอดีซีพบว่า ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 ตลาดไอทีมีสัดส่วนการเติบโต 25.8% โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีมากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง
ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ภายในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนการเติบโตอยู่ที่ 61% ของจีดีพี ส่งผลให้อัตราการจ้างงานด้านไอทีเติบโตควบคู่ไปด้วย
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าตอบแทน ในกลุ่มสายงานไอที มีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้นในทุกปี เป็นผลมาจากแรงงานในสายงานไอทีที่ตลาดต้องการมีการแข่งขันกันสูง องค์กรต่าง ๆ มีความต้องการบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพ เพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล
อีกทั้ง บุคลากรในสายงานนี้ อยู่ในสภาวะขาดแคลนในตลาดแรงงาน แต่ละองค์กรจึงมีการแข่งขันในการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เพื่อดึงดูดและเก็บรักษาบุคลากรเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นจากโครงสร้าง เงินเดือนสายงานไอที เริ่มตั้งแต่ระดับบัณฑิตจบใหม่ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยเริ่มตั้งแต่ต้นที่ 15,000 ไปจนถึง 650,000 ต่อเดือน ดังนี้
- อายุงาน 0-2 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 – 35,000 / เดือน
- อายุงาน 3-5 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 38,000 – 46,500 / เดือน
- อายุงาน 6-8 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 – 75,000 / เดือน
- อายุงาน 9-10 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 82,000 – 105,000 / เดือน
- อายุงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 118,000 – 250,000 / เดือน
- อายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 280,000 – 650,000 / เดือน
จัดอันดับ 5 ความต้องการแรงงานสูงสุด และเงินเดือนในแต่ละกลุ่มงาน แบ่งเป็น IT Permanent ได้แก่
1. AI and Data อาทิเช่น AI Specialists, Data Scientists, Data Engineer, Big Data Developer, Data Analyst ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 195,000 บาทต่อเดือน
2. Engineering and Cloud เช่น Reliability Engineer, DevOps, Cloud Computing, Cloud Architect, Cloud Solutions Consultant, Python Developer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 – 155,000 บาทต่อเดือน
3. Software & Application Developers เช่น Software Engineer, Application Engineer / Developer, Frontend / Backend / Full Stack Engineer / Developer, Mobile Application Developer, Programmer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 33,500 – 110,000 บาทต่อเดือน
4. Product Development เช่น Product Owner, Quality Assurance Tester / Engineer, Agile Coach, Software Quality Assurance Engineer, Product Analyst, Scrum Master ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 42,000 – 145,000 บาทต่อเดือน
5. Sales, Marketing and Content เช่น Social Media Assistant / Content Production, Growth Hacker, Customer Success, Sales Development Representative, Specialist Digital Marketing Specialist ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 28,000 – 108,000 บาทต่อเดือน
ด้าน IT Staffing มีดังนี้
1. Software / Application / Mobile Developers เช่น Software Engineer, Application Engineer / Developer, Frontend / Backend / Full Stack Engineer / Developer, Mobile Application Developer, Programmer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 150,000 บาทต่อเดือน
2. SAP Consultant ใน Module ต่างๆ อาทิเช่น SAP FI/CO, SD, MM เป็นต้น ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 260,000 บาทต่อเดือน
3. Project Management / Project Admin / Project Manager / Project Coordinator ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 – 200,000 บาทต่อเดือน
4. Helpdesk / IT Support Engineer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 – 100,000 บาทต่อเดือน
5. Software Tester / QA ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 – 90,000 บาทต่อเดือน
สำหรับบุคลากรไอที ที่ประสบความสำเร็จและเติบโตในสายงานนั้น ทางเอ็กซ์พีริส พบว่า แรงงานกลุ่มนี้นี้มีการสร้างเครือข่าย Tech Connection ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ Tech Event และคอมมูนิตี้ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ทางสายอาชีพกับคนไอทีในแวดวงเดียวกัน รวมไปถึงต้องปรับ “ทัศนคติ” ให้เข้าใจบทบาทการทำงานเชิงผสมผสาน ระหว่างไอทีและธุรกิจในยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน ต้องมีการศึกษา และพัฒนาทักษะความรู้ ในกลุ่มเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการอัพสกิล (Upskill) และรีสกิล (Reskill) องค์ความรู้ เพื่อเพิ่มพูนทักษะปูทางสู่ความสำเร็จในอาชีพ
อ่านข่าวเพิ่มเติม