ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ไม่ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น
ล้วนอยู่ใน “อารมณ์” เดียวกัน
นั่นก็คือ ความสงสัย แคลงคลาง กังขา นั่นก็คือ ความไม่เข้าใจอันสรุปตามเนื้อเพลงยอดฮิตยุคเก่าที่ว่า
“ทำไมถึงทำกับฉันด้ายยยยย”
เป็นความสงสัยเหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สรุปออกมาในทำนองที่ว่า พวกที่โหวต “สวนมติ” เอา “ความกล้า” มาจากไหน
ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มปากน้ำ” ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มชาติไทย”
ขณะเดียวกัน ก็เป็นความไม่เข้าใจเพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็กำชับไปแล้ว
อย่า “แตกแถว” และ “คะแนน”ต้องเท่ากัน
ความสงสัย แคลงคลาง กังขา อาจแยกไปได้หลายระดับตามลักษณะและวิธีการแสดงออกของแต่ละกลุ่มทางการเมือง
บางอย่างเป็น “กลุ่ม” บางอย่าง “กระจัดกระจาย”
อย่างกรณีของ ส.ส.กลุ่มปากน้ำที่แสดงออกต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ นายสุชาติ ชมกลิ่น ถือว่า “ท้าทาย”
เนื่องจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น 1 ใน 3 ป.
เนื่องจากสถานะของ นายสุชาติ ชมกลิ่น ไม่เพียงแต่เป็น “บ้านใหญ่” แห่งภาคตะวันออกเท่านั้น หากยังเป็นถึง “ผู้อำนวยการ” พรรค
ยิ่งกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยิ่งมากด้วย “คำถาม”
เป็นคำทั้งจาก “ภายใน” ของพรรคประชาธิปัตย์เอง และทั้งสงสัยต่อการตัดสินใจของ 3 ส.ส.แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา
ทุกอย่างล้วนรวมศูนย์ไปที่ทำไมจึงได้ “กล้า”
เกจิทางการเมืองบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องปกติ เมื่อการเมืองมาถึงสภาพที่เรียกว่า “โค้งสุดท้าย” ย่อมมีความเป็นไปได้
เหลืออีกเพียง 8 เดือนเท่านั้น
ที่เคยเก็บกดมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะในพรรคพลังประชารัฐ ในพรรคประชาธิปัตย์ หรือในพรรคชาติไทยพัฒนา
ยิ่งเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยิ่งต้อง “ปล่อยของ”
สัญญาณจากในพรรคพลังประชารัฐที่ส่งไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ นายสุชาติ ชมกลิ่น จึงไม่อ้อมค้อม
ยิ่งจาก “ประชาธิปัตย์” และ “ชาติไทย” ยิ่งไม่ต้องระมัดระวัง
ไส้กี่ขดต่อกี่ขดอันสะท้อนสภาพและลักษณะการดำรงอยู่ของ ส.ส.พรรคขนาดเล็กซึ่งยึดโยงอยู่กับ “บ้านป่ารอยต่อ” จึงได้ทะลักออกมา
เละตั้งแต่ “ทำเนียบ” จนถึง “พลังประชารัฐ”
ภาพของรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2565 คือหนังตัวอย่างของรัฐบาลหน้าที่จะปรากฏหลังการเลือกตั้งในปี 2566
หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง “ไปต่อ”
นี่คือคำถามอันแหลมคมที่เสนออย่างร้อนแรงและแหลมคมในห้วงแห่งการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งในอีกไม่นาน
เป็นคำถามถึง “ระบอบ” เป็นคำถามถึง “อนาคต”