ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้อง 2 ฉบับ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทย แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เข้าข่ายขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
โดย นายสนธิญา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เรื่องจากจะครบวาระรัฐบาล 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 66 โดยยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง หรือกำหนดการยุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจน แต่นักการเมืองมีกฎหมาย 3 ฉบับที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ทั้งนี้ คำร้องฉบับแรกว่า เป็นกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งกลับมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยและเสนอนโยบายพรรค ด้อยค่า ด่าบุคคลอื่นตลอดมา
“แม้กระทั่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไม่สบาย ก็นำขึ้นไปกล่าวบนเวที ทั้งที่คุณณัฐวุฒิก็เคยบอกว่า เผาเลยพี่น้อง รับผิดชอบเอง ปัจจุบันนี้มีพี่น้องภาคอีสานเกือบ 20 คน ใน 5 จังหวัด ที่ยังถูกจำคุกอยู่”
ดังนั้น การที่ นพ.ชลน่าน ให้นายณัฐวุฒิ มีส่วนร่วมในเวทีต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 285 ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบอันแท้จริงทางการเมือง และคัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้าไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นกรณีของ นายณัฐวุฒิ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แล้วมีสิทธิอะไรขึ้นไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะฉะนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
สำหรับคำร้องฉบับที่สอง นายสนธิญา เปิดคลิป นพ.ชลน่าน ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันที่ 4 มี.ค. 66 ระหว่างการปราศรัยใหญ่ 3 จุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของการเมือง ที่มีอดีตรัฐมนตรี วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ตลอดจนกลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และพรรคเพื่อไทย เป็นแกนเดียวกันที่จะนำไปสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์
นายสนธิญา ระบุว่า ปัญหาคือ ประเทศไทยมี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จึงถามว่า กรณีที่ นพ.ชลน่าน บอกว่ามี อดีตรัฐมนตรีวีรศักดิ์ และกลุ่ม อบจ. บุคคลอื่นเหล่านั้นเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ที่ไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรรคเพื่อไทย เพราะมาตรา 28 บัญญัติห้ามพรรคการเมืองให้บุคคลเข้าไปชักจูง ครอบงำ ชี้นำ ส่วนมาตรา 29 บัญญัติห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้าไปครอบงำ ควบคุม ชี้นำ รวมถึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 และทั้งสองข้อหาก็นำไปสู่มาตรา 92 (3) ที่สามารถดำเนินการไปถึงการยุบพรรคได้