ชุดอุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากสำหรับผู้ป่วยพิเศษ และเท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการไม่มีขา เป็น 2 นวัตกรรมตัวอย่างที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย ถูกจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์” (Thailand Inventors’ Day 2023) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24
ภายในงานไม่ได้มีแค่นวัตกรรมเพื่อผู้พิการเท่านั้น แต่ยังสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ และในแขนงอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดแสดงร่วมกว่า 1,000 ผลงาน
วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ถือเป็นเวทีระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ผลงานการประดิษฐ์ของคนไทย ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัย และนวัตกรรมระหว่างนักประดิษฐ์ไทยกับนักประดิษฐ์นานาชาติ
ทางกรุงเทพธุรกิจจึงได้หยิบยกนวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้ป่วยพิการ และนวัตกรรมที่ใช้ในผู้ป่วยทั่วไป ตลอดจนแพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพ ไว้ดังนี้
- ชุดอุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ผลงานของสองทันตแพทย์ผู้ห่วงใยสุขอนามัยช่องปากของผู้ป่วยพิเศษ ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ คิดค้นโดย ทพญ.พรสวรรค์ ธนธรวงศ์ อาจารย์ภาควิชาทันตกรรมทั่วไป คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ทพญ.แพรวพัชร ปัจฉิมสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล
โดย ทพญ.พรสวรรค์ เล่าว่า ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเมื่อกลุ่มผู้สูงอายุป่วยอาจทำให้ไม่สามารถดูแลสุขอนามัยในช่องปากด้วยตัวเองได้อย่างทั่วถึง และยังเหมาะกับคนทุกกลุ่มที่ป่วยแล้วไม่สามารถดูแลตัวเองได้ รวมถึงเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงฝึกแปรงฟันให้ถูกวิธี
ซึ่งชุดอุปกรณ์นี้ผลิตจากซิลิโคนเกรดทางการแพทย์ ประกอบด้วย “ปลากัด” อุปกรณ์ช่วยง้างปากให้ค้างได้ยาวนาน “กระจกส่องภายในช่องปาก” เพื่อรั้งแก้มหรือลิ้น และตรวจดูความสะอาดเรียบร้อยภายในช่องปาก
“ที่ขูดลิ้น” ช่วยทำความสะอาดเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก บริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม เพื่อกำจัดคราบอาหารและเสมหะเหนียวที่ตกค้าง โดยมีอุปกรณ์เสริมคือ “ด้าม” ออกมาให้ต่อความยาวกับอุปกรณ์ชิ้นต่างๆ เพื่อทำให้สามารถทำความสะอาดเพดานปากได้อย่างนุ่มนวล
เพราะช่องปากเป็นอวัยวะที่เป็นด่านแรกในการนำสิ่งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ถ้าผู้ดูแลละเลยเรื่องความสะอาดบริเวณนี้จะส่งผลให้ภายในปากเป็นที่สะสมแบคทีเรียที่หมักหมม เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งผลให้ปอดอักเสบ อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น
- เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการไม่มีขา
นวัตกรรมดังกล่าวถูกพัฒนาโดย ไพรัช ตั้งพระประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรองมาตรฐานจากห้องแล็บ ISO 17025 จากประเทศเยอรมนี
เท้าเทียมไดนามิกส์ ผลิตจาก Carbon fiber เกรดการแพทย์ โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตขึ้นรูปในประเทศไทย ออกแบบฟังก์ชันการทำงานให้มีความยืดหยุ่น สามารถกดขึ้นลง บิดซ้ายขวาได้ เสมือนกับเท้าของคนทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการกักเก็บและปล่อยพลังงานขึ้นในจังหวะที่เหมาะสมทำให้ผู้พิการที่ใช้เท้าเทียมไดนามิกส์สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้นานขึ้น สามารถเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระได้ ทำให้คุณภาพชีวิตผู้พิการดีขึ้น
เท้าเทียมมีราคาจับต้องได้ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนเท้าเทียมบ่อย ๆ การดูแลรักษาก็ทำได้ง่าย ปัจจุบันได้มีการออกแบบเท้าเทียมไดนามิกส์นี้ให้เหมาะกับผู้พิการทั้งชายและหญิงที่น้ำหนักตัวที่ต่างกันถึง 11 ไซส์
- ATK เคร่วมกับเคมีไฟฟ้า แบบไม่ติดฉลากสำหรับวินิจฉัยโควิด-19
ผลงานของ สุตเขต ไชโย จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ เอทีเคเคมีไฟฟ้า แบบไม่ติดฉลากสำหรับการวินิจฉัยไวรัสโควิด-19 มีราคาต้นทุนต่ำกว่าเอทีเคทั่วไป (ราคาต้นทุนของเอทีเคเคมีไฟฟ้า = 15 บาท/ชิ้น)
เนื่องมาจากการใช้แอนติบอดีเพียงชนิดเดียวและไม่จําเป็นต้องมีการติดฉลากบนสารชีวโมเลกุล แต่ยังคงประสิทธิภาพและความไวสูงในการทดสอบวินิจฉัยโรคโควิด-19
การตรวจวัดเชื้อโควิด-19 โดยใช้เอทีเคเคมีไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถตรวจหา โปรตีนชนิด nucleocapsid หรือ N-protein ของเชื้อโควิด-19 ได้ต่ำในระดับ 0.69 พิโลกรัมต่อมิลลิลิตร และสามารถตรวจวัดแอนติเจนได้ในเชิงปริมาณได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังนำเอทีเคเคมีไฟฟ้าแบบไม่ติดฉลากนี้ไปใช้ทำสอบกับตัวอย่างสวอทจากผู้ป่วยจริง โดยได้ค่าความไวเชิงวินิจฉัยเท่ากับ 91.6 เปอร์เซ็นต์ และค่าความจําเพาะเชิงวินิจฉัยเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเป็นค่าที่ผ่านเกณฑ์ของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย สําหรับการทดสอบชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนของเชื้อโควิด-19
- แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยา
คิดค้นโดย กลกรณ์ วงศ์กาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เป็นแชทบอตปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพจิตในรูปแบบ drag & drop พร้อมโมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์อารมณ์ (Emotion) หัวข้อการสนทนา (Topic)
และชวนคุยเล่นกับผู้ใช้งาน (Chitchat) เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพจิตสร้างแชทบอตเพื่อสุขภาพจิตได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมและไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมใช้งานบน Line หรือ Facebook
และยังพัฒนา Mental Health Dashboard ซึ่งเป็นส่วนแสดงข้อมูลของผู้ใช้งานที่ถูกเรียกเก็บจากการใช้งานแชทบอท เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติ หรือวางแผนทางนโยบายได้ โดยผู้ดูแลสามารถเข้าใช้งานได้ทั้งรูปแบบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือได้
ภายในงานได้มีสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางเกษตรชุมชน จากกฟผ., เครื่องสกัดน้ำมันไข่แดงแบบเคลื่อนที่ จากภาควิชาวิศวรรกมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มทร.ธนบุรี และเนื้อเทียมแห้งไร้สารการก่อภูมิแพ้ โดย ม.รังสิต
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา