Photo by Great Wall Motor Co. Ltd.
แบรนด์รถยนต์น้องใหม่ “ฉางอัน-จีลี่-เจเอซี” ตบเท้าถล่มทั้งเก๋งและเอสยูวี หลัง “บีโอไอ” กางแผนเปิดลงทุนใหม่กดดันค่ายญี่ปุ่น ระบุทั้ง “เอ็มจี-เกรทวอลล์-BYD” สร้างแรงกระเพื่อมในตลาด เปิดแฟลกชิปโชว์รูมกลางกรุง ลุ้นนโยบาย “สถานีชาร์จ-ภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่” ชัดเจน มีอีกหลายค่ายทยอยลงทุน มั่นใจสปีดรถยนต์ไฟฟ้าเข้าตามเป้าแผนยุทธศาสตร์บอร์ดอีวี ปี 2570 ผลิตต่อปีทะลุ 1.5 ล้านคัน
“เอ็มจี-เกรท วอลล์ฯ” มาแรง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคึกคักของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากค่ายรถจากจีนแบรนด์ “เอ็มจี” โดยบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) หรือเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น จับมือกับกลุ่ม ซี.พี. เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์และทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างแบรนด์จนติดตลาดและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว 5 ปีกวาดยอดขายไปแล้วกว่า 50,000 คัน และกำลังจะบรรลุเป้าหมาย 100,000 คันในเร็ว ๆ นี้
Photo by AFP
ตามมาด้วยค่ายเกรท วอลล์ฯ ซึ่งประกาศแผนลงทุนเมื่อปีที่แล้วจากการเทกโอเวอร์โรงงานจีเอ็มและเชฟโรเลตที่จังหวัดระยอง และเปิดตัวรถยนต์เอสยูวีรุ่นแรก ภายใต้แบรนด์ ฮาวาล เอช 6 ไฮบริด ในงานมอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พร้อมเปิดแฟล็กชิปสโตร์กลางกรุง 4 แห่ง ส่งผลให้ค่ายรถจีนอีกหลายยี่ห้อทยอยตบเท้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรา
ฉางอัน-จีลี่-เจเอซี ดาหน้าลงทุน
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถยนต์อีกหลายยี่ห้อพร้อมเข้ามาลงทุนทำตลาดในไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นหน้าที่ของบีโอไอที่ต้องการดึงนักลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากจีนเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มากขึ้น เป็นการสร้างความต้องการของตลาดให้แพร่หลายมากขึ้น
โดยขณะนี้มีค่ายรถยนต์จีนอีกหลายยี่ห้อติดต่อขอข้อมูล สำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างน้อย 3-4 ราย หนึ่งในนั้นมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ฉางอัน ออโตโมบิล” ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเข้ามาเจรจารายละเอียด และการหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมย่านปราจีนบุรีด้วย อีกค่ายคือ กลุ่มจีลี่ ได้ติดต่อสำนักงานของบีโอไอในต่างประเทศว่า มีความสนใจเข้ามาลงทุนในลักษณะของการร่วมทุนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) มีโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์อยู่มากถึง 13 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายทั่วทั้งประเทศจีน, บราซิล, รัสเซีย, ไนจีเรีย และมาเลเซีย กำลังการผลิตรวมทั้งหมดของโรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 2 ล้านคันต่อปี
แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาได้รับการทาบทามจากผู้บริหารค่ายฉางอัน เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจีนแบรนด์ฉางอันในประเทศไทย โดยมีการเชิญผู้ประกอบการดีลเลอร์ชาวไทยไปร่วมรับฟังแผนธุรกิจและแผนงานต่าง ๆ มาแล้ว และฉางอัน ออโตโมบิล ยังได้เตรียมประกาศรับสมัครพนักงานในประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดอาจจะทำให้แผนงานต่าง ๆ ล่าช้าออกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนจีลี่ ออโตโมบิล เดิมเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และเริ่มประกอบรถยนต์จำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และผลิตเป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ปัจจุบันจีลี่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และได้ซื้อกิจการรถยนต์วอลโว่ จากฟอร์ดมอเตอร์ ล่าสุดจีลี่ได้เทกโอเวอร์แบรนด์โปรตอนของมาเลเซีย และคาดว่าน่าจะใช้แบรนด์โปรตอนบุกทำตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง
เช่นเดียวกับ เจเอซี มอเตอร์ส (JAC Motors) ซึ่งถือเป็นอีกแบรนด์ใหญ่ในจีน มีกำลังการผลิตรถยนต์ 700,000 คัน และเครื่องยนต์ 500,000 เครื่องต่อปี รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยมีการผลิตทั้งรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์
ภาษีส่งเสริมชัด จ้องลงทุนเพียบ
รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจะได้เห็นภาพการลงทุนจากแบรนด์จีนชัดเจนยิ่งขึ้น จริง ๆ ยังมีอีกหลายค่ายที่รอดูความชัดเจน ทั้งนโยบายสถานีชาร์จ รวมทั้งอัตราภาษีสรรพสามิตของแบตเตอรี่อีวีว่าจะจัดเก็บในอัตราเท่าใด
รวมถึงเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะให้กับคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ลงทุนอยากได้ข้อมูลไปเปรียบเทียบกับการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคันจากประเทศจีน ว่าแบบใดจะคุ้มค่ากว่า ซึ่งหากทุกอย่างชัดเจน เชื่อว่าน่าจะได้เห็นทัพการลงทุนจากจีนเข้ามาในไทยอีกเป็นจำนวนมาก
Photo by AFP
“บีวายดี” เบนเข็มลุยตลาดบัส
นายดิฐวัฒน์ ณรงค์รักเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี รีเลชั่นชิป จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถ forklift พร้อมอุปกรณ์ประเภทแบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง บริษัทในเครือสยามกลการอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถโฟร์กลิฟต์ยี่ห้อบีวายดี
ล่าสุดได้ขยายไลน์สินค้าภายใต้แบรนด์บีวายดี ประเภทกลุ่มรถบัสและรถบรรทุก โดยช่วงแรกเป็นการนำเข้าทั้งคัน (ซีบียู) ตอนนี้มีการนำชิ้นส่วนมาประกอบภายในประเทศ (ซีเคดี) โดยได้จับมือกับกลุ่มเชิดชัย กรุ๊ป ประกอบรถบัสขนาดกลางเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ภายใต้เทคโนโลยีของบีวายดี 100% และอนาคตจะขยายไปยังกลุ่มรถยนต์นั่งด้วย
ก่อนหน้านี้ รถยนต์นั่งบีวายดีถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยกลุ่มชาริช โฮลดิ้ง นำร่องผ่านโครงการ “รถแท็กซี่ วี.ไอ.พี.” ราว 120 คัน ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้ยุติการดำเนินกิจการไปแล้ว
เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มีข่าวเรื่องการเคลื่อนทัพของรถยนต์จากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการรุกเข้าในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบีโอไอก็มีการเปิดแพ็กเกจรอบสองรองรับ เอ็มจีในฐานะแบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นรายแรก ๆ ยินดีต้อนรับกับแบรนด์รถยนต์จากจีน ซึ่งจะมาช่วยกันปลุกตลาดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น
แต่สุดท้ายค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาทำตลาดนั้นต้องพิสูจน์ตัวเอง ทั้งตัวโปรดักต์ การทำตลาด เนื่องจากตลาดในเมืองไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งลูกค้ามีทางเลือกค่อนข้างเยอะ ทั้งจากแบรนด์ญี่ปุ่นและยุโรป สำหรับเอ็มจียังยืนยันเป้าหมายใช้ประเทศไทยเป็นฮับ 3 ด้าน ได้แก่ ฮับพวงมาลัยขวา, ฮับการผลิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และล่าสุดเตรียมเป็นฮับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ไม่ต่างจากนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทยอยเข้ามาของแบรนด์ใหม่ ๆ จากประเทศจีนในประเทศไทย ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น พร้อมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยรวมถึงดีไซน์ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างอีโคซิสเต็มของยานยนต์ไฟฟ้าที่เต็มรูปแบบมากขึ้น เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี
สปีดรับแผนยุทธศาสตร์บอร์ดอีวี
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การรุกขยายตลาดของรถจีนมาในไทย นอกจากช่วยกระตุ้นดีมานด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราแล้ว ยังช่วยกดดันค่ายญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ขอบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนลงทุนอย่างจริงจัง
ดังนั้นการที่รถจีนดาหน้ากันเข้ามาลงทุนทำตลาดในบ้านเรา แม้ช่วงแรกจะใช้วิธีนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายทั้งคันก่อน แต่ก็น่าจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)
ที่ต้องการผลักดันเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% หรือราว ๆ 1.5 ล้านคันต่อปี ในปี 2573 แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง-กระบะ 7.25 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.75 แสนคัน และรถบัส/รถบรรทุกอีก 3.4 หมื่นคัน สถานีชาร์จ 12,000 หัวจ่าย เข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น