‘ยักษ์ดิจิทัล’ ขานรับ ‘ภาษีอี-เซอร์วิส’ – เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล ไลน์ ชูธงหนุน

ยักษ์ดิจิทัลขานรับ “ภาษีอี-เซอร์วิส” 1 ก.ย.นี้ ‘เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล ยูทูบ ไลน์’ ชูธงหนุนพร้อมทำตามกฏของทุกตลาดที่ให้บริการ ‘เฟซบุ๊ค’ ยังนิ่ง ‘ซีอีโอธุรกิจ-กูรูดิจิทัล’ ชี้ทุกธุรกิจที่มีรายได้ในไทยควรเสียภาษีที่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ระบุไทยได้ประโยชน์ระยะยาว “เอ็ตด้า” เปิดผลศึกษา แนะรัฐปรับวิธีเก็บภาษีให้ง่าย จูงใจดิจิทัลข้ามชาติขึ้นทะเบียนภาษีในไทย

นับถอยหลัง “ภาษีอี-เซอร์วิส” ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย.นี้ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาให้บริการดิจิทัลในไทย ทั้งเป็นการอุดการรั่วไหลของเงินที่ไทยควรได้รับ แต่ที่ผ่านมากลับไหลออกต่างประเทศ ขณะที่ข้อมูลของ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ปี 2563 ระบุว่า เฟซบุ๊ค และยูทูบ คือ 2 แพลตฟอร์มหลักที่กวาดเม็ดเงินโฆษณาในไทยไปกว่า 50% หรือเกือบ 10,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ไทยควรได้ประโยชน์ แต่กลับสูญเสียรายได้ส่วนนี้อย่างน่าเสียดาย

แหล่งข่าวในวงการดิจิทัล “รายใหญ่” ในไทย กล่าวว่า ภาษีอี-เซอร์วิส ที่กำลังมีผลบังคับใช้ คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ VAT 7% ที่จะเรียกเก็บจาก บริการดิจิทัลที่ให้บริการจากต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนในไทย เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์ โดยที่ผ่านมาแพลตฟอร์มเหล่านี้แม้มีประโยชน์ในการใช้งานหลายด้าน แต่อีกมุมหนึ่ง คือ การเกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ซึ่งผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน และไทยสูญเสียรายได้ด้านภาษีต่อปีจำนวนมาก

ดังนั้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันที่เป็นธรรม และเป็นการอุดรูรั่วรายได้ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าแพลตฟอร์มต่างชาติพร้อมเสียภาษี แม้จะกังวลว่าอาจส่งผลถึง “ค่าบริการ” ปลายทางที่ผู้บริโภคต้องเสียสูงขึ้น แต่ เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นนั้นเพราะไทยเป็นตลาดดิจิทัลที่ใหญ่ คนใช้งานมาก ถ้าเก็บค่าบริการเพิ่มแล้วผู้ใช้งานลดลงคงไม่คุ้ม

“ซี กรุ๊ป” หนุนภาษีอี-เซอร์วิส

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างช้อปปี้ เกมออนไลน์ และอีเพย์เม้นท์ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยนั้น มีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฏหมายอยู่แล้ว 

“ส่วนการเก็บภาษี อี-เซอร์วิส จากธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มข้ามชาติที่มีรายได้ในประเทศไทยนั้น เรามองว่าทุกธุรกิจที่มีรายได้ในไทย ควรมีข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งภาระหน้าที่ในการเสียภาษีบนมาตรฐานเดียวกันทั้งธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจคนไทย เพื่อให้แข่งขันที่เท่าเทียมกันและไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจ”

“เน็ตฟลิกซ์-กูเกิล-ไลน์” พร้อมร่วมมือ

ขณะที่มุมมองแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่ปัจจุบันให้บริการอยู่ 190 ประเทศทั่วโลก ล่าสุด โฆษกของเน็ตฟลิกซ์ ระบุกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่ากฎหมายและกรอบข้อบังคับด้านภาษี เป็นมาตรการที่กำหนดโดยภาครัฐ และเน็ตฟลิกซ์เคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ในทุกประเทศที่เข้าไปให้บริการ 

ทั้งนี้เน็ตฟลิกซ์สนับสนุนการเริ่มต้นเก็บภาษีกับบริษัทต่างชาติของไทย โดยที่ผ่านมาได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ด้านการจัดเก็บภาษีมาโดยตลอด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานที่ดีที่สุด และประสบการณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มใช้ข้อบังคับ

เช่นเดียวกับ กูเกิล ประเทศไทย โดยโฆษกกูเกิล ระบุกับ “กรุงเทพธรกิจ” เช่นเดียวกันว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากูเกิลปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรของทุกประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ และเมื่อกฎหมายเปลี่ยนแปลงก็ยังคงปฏิบัติตามหน้าที่ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของประไทย

“เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กูเกิลจะดำเนินการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามที่กฎหมายกำหนด” โฆษก กูเกิล กล่าว 

ด้าน ไลน์ ประเทศไทย ที่มีหลายบริการดิจิทัล ชี้แจงสั้นๆ ว่า บริษัทพร้อมดำเนินการตามกฏกติกาของไทย ซึ่งถ้าบังคับใช้กฏหมายและรายละเอียดในการจัดเก็บมีความชัดเจน

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของ เฟซบุุ๊ค ประเทศไทย ยังคงนิ่งเงียบและดูท่าทีความชัดเจนของตัวกฏหมาย ซึ่งแหล่งข่าวในวงการดิจิทัล เชื่อว่า เฟซบุ๊ค คงต้องทำตามกฎหมายของไทย เพราะไทยเป็นตลาดใหญ่ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญ 

อย่างไรก็ตาม สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (DAAT) รายงานปี 2563 ระบุว่า 2 แพลตฟอร์มดิจิทัลหลักที่กวาดเม็ดเงินโฆษณาในไทย คือ เฟซบุ๊คกว่า 6,023 ล้านบาท และยูทูบกว่า 3,717 ล้านบาท หากรวมทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ครองสัดส่วนโฆษณาในไทยแล้ว 50% หรือมีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้าน ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์และโฆษณาดิจิทัลจะเติบโตต่อเนื่องทุกปี

เอ็ตด้าชี้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์

ด้านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลศึกษาแนวนโยบายการจัดเก็บภาษีของไทย และแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) จากต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น 

โดยพบว่า ประเทศเหล่านี้ ได้นำแนวคิดกรอบการดำเนินงานว่าด้วยการลดกัดกร่อนฐานภาษี และโอนกำไรไปต่างประเทศ (BEPS) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD มาใช้อ้างอิงในการจัดเก็บ DST 

ผลศึกษา ชี้ว่า กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากการเก็บ DST ได้แก่ 1.หน่วยงานจัดเก็บภาษี 2.ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าและบริการออนไลน์ และ 3.ผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีในไทย ส่วนผู้ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีในไทยอที่ต้องมีภาระในการเสีย DST ให้หน่วยงานจัดเก็บภาษี และ ผู้บริโภคในไทยที่อาจได้รับผลกระทบอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการต่างชาติผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้บริโภคในไทย