ปัญหาค่าไฟแพงกับการบิดเบือนความจริง – ThaiPublica

ประสาท มีแต้ม

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 และความถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งกินเวลานานร่วม 3 ปี แต่ในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมาจาก 1 กันยายน 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในบ้านเราได้ขึ้นราคารวม 3 ครั้งติดต่อกัน จากค่าเอฟทีติดลบ 15.32 จนถึงบวก 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หากคิดเป็นอัตรารวมทุกรายการก็เพิ่มขึ้นเท่ากับ 28% บ้านที่ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือนซึ่งเคยจ่าย 2,083 บาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,665 บาท ในขณะที่จีดีพีซึ่งสะท้อนการเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนในชาติของปีก่อนหน้านั้นได้เพิ่มขึ้นเพียง 3.5% เท่านั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ได้เกิดเสียงบ่นร้องถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคทั่วประเทศ

แม้ในการคิดราคางวดหน้าคือมกราคม-เมษายน 2566 รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ตรึงค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยไว้เท่าเดิมหรือเท่ากับงวดปัจจุบัน แต่ก็ได้ขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าสำหรับภาคส่วนอื่น เป็น 190.44 สตางค์ต่อหน่วย (จากเดิม 93.43 สตางค์ต่อหน่วย) การตัดสินใจดังกล่าวดูผิวเผินก็ไม่กระทบกับภาคครัวเรือนซึ่งใช้ไฟฟ้าประมาณ 29% ของไฟฟ้าทั้งประเทศ แต่ในที่สุดแล้วภาระดังกล่าวก็จะถูกส่งผ่านมาบวกเข้ามาอยู่ในราคาสินค้าและบริการอยู่ดี นับเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอของผู้บริโภคอยู่ดี

เหตุผลที่ทางกระทรวงพลังงานใช้ในการขึ้นราคาสองครั้งที่ผ่านมาและครั้งนี้ด้วยก็คือ (1) ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและนำเข้าจากประเทศเมียนมามีจำนวนลดลง และ (2) ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ซึ่งเป็นราคาจร) มาทดแทนทั้งๆ ที่มีราคาแพงมากจากสถานการณ์สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 เดือนแล้ว

ตรงประเด็นนี้แหละที่ผมรู้สึกว่าเหตุผลที่นำมาอ้างในการขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการบิดเบือนความจริง กล่าวคือ แม้ว่าข้ออ้างดังกล่าวมีส่วนที่เป็นความจริงอยู่ แต่ก็เป็นเหตุผลที่ได้มองข้ามความจริงอย่างอื่นอย่างตั้งใจ ผมจึงถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงอย่างร้ายกาจ กล่าวโดยย่อก็คือเรามีพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็ถูกกว่าการผลิตด้วยก๊าซธรรมชาติ แต่รัฐบาลไม่เลือกใช้ เดี๋ยวผมจะค่อยๆ อธิบายว่าทำไมผมจึงมีความเห็นอย่างนั้น

กังหันลม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/EGAT.Official/photos/5205093322924001

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในปี 2564 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าจำนวน 113,113 ล้านหน่วย คิดเป็น 54% ของการผลิตในระบบไฟฟ้าไทย และผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งหมายถึงผลิตจากโซลาร์เซลล์ ชีวมวลและกังหันลม แต่ไม่รวมพลังน้ำ) จำนวน 21,927 ล้านหน่วย คิดเป็น 11% ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกว่าผลิตจากโซลาร์ได้จำนวนเท่าใด

คราวนี้มาดูข้อมูลของประเทศอื่นกันบ้าง ดังภาพประกอบ

เริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่นก่อนเลยครับ อาศัยข้อมูลจาก Our World in Data พบว่าในปี 2564 ญี่ปุ่นสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 85,404 ล้านหน่วย มันเกือบเท่ากับจำนวนไฟฟ้าที่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติในปีเดียวกัน ในขณะที่ประเทศไทยเราผลิตจากแสงแดดได้เพียง 4,823 ล้านหน่วย หรือแค่ 6% ของที่ญี่ปุ่นผลิตได้เท่านั้น

เกาหลีใต้และเวียดนามผลิตได้กว่า 5 และ 2 เท่าของประเทศไทย ตามลำดับ ทั้งที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าหรือความเอาจริงเอาจังในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า ผมขอนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ด้วยภาพให้เห็นกันชัดๆ อีกสักภาพนะครับ

จากภาพเราจะเห็นถึงความไม่เอาจริงเอาจังของประเทศไทย กล่าวคือ ในปี 2013 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอมาถึงปี 2021 เรากลับมีฐานะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกค่อนข้างมาก ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น ชิลี เกาหลีใต้ และเวียดนาม ได้ถีบตัวเองไปอยู่แถวหน้าของโลกไปแล้ว

มาเจาะลึกกับประเทศญี่ปุ่นอีกสักนิดครับ ในปี 2011 ได้ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุ ญี่ปุ่นจึงเพิ่มสัดส่วนการผลิตจากโซลาร์เซลล์อย่างรวดเร็ว จาก 0.46% (ของการผลิตทั้งหมด) ในปี 2011 เป็น 9.25% ในปี 2021 และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2022 ท่ามกลางสถานการณ์ราคาก๊าซฯพุ่งขึ้นทั่วโลก ญี่ปุ่นก็ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนนี้ถึง 9.4% มาอยู่ 74,367 ล้านหน่วยแค่ 9 เดือนแรก

ไหนๆ ก็พูดถึงญี่ปุ่นแล้ว ขออีกสักนิดครับ เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีนี้ รัฐบาลเมืองโตเกียวซึ่งมีประชากร 14 ล้านคนได้ผ่านกฎหมายเพื่อบังคับให้บ้านที่สร้างใหม่หลังปี 2025 ต้องติดโซลาร์เซลล์ โดยคาดการณ์ว่าขนาด 4 กิโลวัตต์จะลงทุน $6,725 (แพงกว่าติดตั้งในประเทศไทย) ซึ่งจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 10 ปี แต่รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้คุ้มทุนเร็วขึ้นคือคุ้มทุนประมาณ 6 ปี พร้อมกันนี้ได้เตรียมระเบียบและวงเงินไว้เรียบร้อยแล้ว เหตุผลหลักของโครงการนี้ก็เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คนญี่ปุ่นปล่อยเฉลี่ย 8.6 ตันต่อคนต่อปี ให้เหลือ 2.3 ตันต่อคนต่อปี ภายในปี 2030 ตามข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติ

เรามาดูความพยายามในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของรัฐบาลไทย

จากเอกสาร “ข่าวประชาสัมพันธ์” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (15 ธันวาคม 2565) ได้คาดการณ์ว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ราคาจร) ในงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 จะอยู่ระหว่าง 1,169-1,369 บาทต่อล้านบีทียู หากสมมุติว่าก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 125 หน่วย (ซึ่งใกล้เคียงความจริงมาก) ดังนั้น ค่าก๊าซฯ อย่างเดียวก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 9-11 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า โดยจะใช้ก๊าซ LNG ถึงประมาณ 40% ของก๊าซทั้งหมด ลองคิดดูว่าค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยทั้งประเทศจะสูงขึ้นไปมากขนาดไหน ผู้บริโภคจะรับภาระไหวหรือ

กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้งครับ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปแบบ “หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (net metering)” โดยมีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ลดภาระของประชาชน และเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการให้มีการขยายตัวและมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมกับมีจดหมาย “ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 30 กันยายน 2565

ความหมายสำคัญก็คือ ให้มีการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านผู้ติดตั้งกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในตอนกลางวันไหลย้อนเข้าสู่สายส่งได้ เวลากลางคืนไฟฟ้าก็ไหลเข้าบ้านตามปกติ โดยไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มเติมอีก 1 ตัว ซึ่งรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบในหลักการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมและไม่จำเป็น เช่น ต้องให้วิศวกรรับรองความแข็งแรงของอาคาร เป็นต้น จนไม่มีผู้สนใจจะติดตั้งเพราะไม่คุ้มกับการลงทุน ดูรายละเอียดในภาพ

บัดนี้เวลาได้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว มันน่าจะนานเกินไปกับความหมายที่ว่า “ด่วนที่สุด” แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ความจริงแล้วระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปนั้น มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า นับถึงปี 2018 มีประเทศต่างๆ นำไปใช้แล้วรวม 63 ประเทศ นับถึงปัจจุบันก็น่าจะมีแพร่หลายมากกว่านี้

ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคนก็มีการใช้ระบบนี้แล้วถึง 3 ล้านหลังคา แต่ทำไมประเทศไทยเราจึงเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่อำนาจสูงสุดของรัฐได้เปิดไฟเขียวให้แล้วหรือว่าจริงๆ แล้วยังมีอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจรัฐคอยขัดขวางอยู่

  • ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า
  • จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมได้นำเสนอใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ (1) รัฐบาลมุ่งแต่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาแพงมากและเป็นกิจการผูกขาด แต่จงใจมองข้ามพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีจำนวนมหาศาลที่ธรรมชาติได้มอบมาให้กับทุกคน ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และ (2) แม้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งส่งเสริมโดยด่วนแล้ว แต่หน่วยงานภาคปฏิบัติไม่ตอบสนอง ไม่หือไม่อือ ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับรู้ความจริงก็ก้มหน้าก้มตาจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา

    Stephen Hawking (1942-2018) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลกกล่าวว่า “ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของความรู้ ไม่ใช่ความโง่เขลา แต่มันคือการบิดเบือนความรู้” เพราะเมื่อความจริงถูกบิดไปเพียงนิดเดียว ผู้ที่รับสารก็จะหลงเชื่อว่าเป็นความจริง แล้วก็ก้มหน้าก้มตายอมจำนนรับกรรมต่อไปโดยไม่รู้ตัว

    แต่ถ้ามีการกล่าวความเท็จอย่างขาวกับดำ ผู้รับสารก็จะคงจับเท็จได้ง่ายและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเองและสังคมอย่างแน่นอน