ประภาส ปิ่นตบแต่ง : บทสนทนาว่าด้วยบทบาทนักวิชาการเพื่อสังคม | ประชาไท Prachatai.com

 

“การยึดอำนาจของ รสช.เมื่อปี 2534 ได้ให้เหตุผลในทำนองเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าขอเว้นวรรคประชาธิปไตยเอาไว้ชั่วคราว เหมือนรถยนต์ที่วิ่งไปถามถนนต้องหยุดซ่อมบ้าง มิฉะนั้น จะไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทาง หลังการยึดอำนาจจึงเกิดขบวนการสยบนักการเมืองท้องถิ่น และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่อย่างถ้วนหน้า ไม่แยกแยะกลุ่มก้อน องค์กร ฯลฯ การปิดวิทยุชุมชนทุกพื้นที่กระทบเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้อาศัยเป็นช่องทางการสื่อสาร เรียนรู้กันในพื้นที่ …ผลของกระทำการเช่นนี้ จึงมีสภาพเหมือนการให้เคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งไม่รู้ว่ามะเร็งร้ายมีจริงหรือเปล่า แต่ได้ทำลายส่วนที่ดีงาม ความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชน ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไปด้วย….” 

เราเปิดบทสนทนาด้วยข้อเขียนย่อหน้าหนึ่งที่อาจารย์ประภาส ปิ่นตกแต่ง เขียนไว้ในบทความขนาดยาว “ประชาชนเกี่ยวอะไร vol.1 พาดหัว: คืนอำนาจให้รากหญ้า” ซึ่งถ้าใครรู้จักกับอาจารย์เป็นการส่วนตัวจะทราบว่าถ้อยคำจากบทสนทนานั้นอาจจะไม่คมคายเสียดแทงได้เท่ากับภาษาเขียนในบทความที่กลั่นจากความคิดจริงจังของเขาผู้นี้   

 

หนึ่ง ยุคป่าแตก การก่อตัวทางความคิดของนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย สู่ความตั้งใจออกมาทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม

เมื่อได้อ่านงานเขียนของอาจารย์ ทำให้เราอยากรู้ถึงเบื้องลึกของความจริงจังทางความคิดที่อาจารย์มีต่อปัญหาทางการเมืองไทย ซึ่งเห็นได้จากงานวิชาการทั้งหลายของอาจารย์ได้สะท้อนต่อการวิเคราะห์การเมืองมาตลอด อยากให้อาจารย์เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภาคประชาชนมีความเป็นมาอย่างไร ก่อนหน้านี้อาจารย์ทำอะไรมาบ้าง มีแรงบันดาลใจ หรือเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มาสนใจในเรื่องนี้

ประภาส : ตอนเข้ามหาวิทยาลัยช่วง พ.ศ. 2523 เป็นช่วงที่รู้กันดีว่าเป็นช่วงป่าแตก อุดมการณ์สังคมนิยม  พรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มที่จะถดถอย และรัฐบาลมีนโยบาย ตามคำสั่ง 66/2523 คืนป่าสู่เมือง (นโยบายรัฐ “ยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์” โดยใช้วิธีทางการเมืองนำการทหาร ขจัดการขยายแนวร่วม พคท. สนับสนุนประชาธิปไตย ปฏิบัติต่อผู้เข้ามอบตัว อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติที่เรียกกันว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ช่วงนั้นจึงเหมือนจะเป็นยุคที่แสวงหาครั้งที่ 2 สังคมทางความคิดในมหาวิทยาลัยเริ่มเบ่งบานอีกครั้ง ในช่วงที่ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็ตรงกับยุคป่าแตก รุ่นพี่ ๆ ที่เข้าป่าเริ่มกลับเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย นั่งหลังห้องเรียน ซึ่งมีหลายคนที่ยังคงเจอหน้ากันทำงานทางสังคมมาจนถึงในปัจจุบัน ตอนนั้นเป็นยุคที่ในทางการเมืองเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่มีพื้นที่เปิดทางการเมืองที่มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว กิจกรรมนักศึกษาเริ่มกลับมาเฟื่องฟู ผมก็เข้าไปอยู่ในกระแสกิจกรรมนักศึกษา ชมรมนักศึกษา จำได้ว่าตอนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยได้สองหรือสามอาทิตย์ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว เดินขบวนต่อต้านการขึ้นราคารถเมล์ เนื่องจากกระแสกิจกรรมนักศึกษาเริ่มฟื้นฟูกลับมา สถานการณ์ตอนนั้นมีทั้งราคารถเมล์ น้ำมันขึ้นราคา ยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ กิจกรรมนักศึกษาเริ่มฟื้นตัวในยุคแสวงหาครั้งที่ 2 หลายคนอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อจบการศึกษาในปี 2527 ซึ่งสาย NGOs จะทราบกันดีว่าหลังจากป่ายุคป่าแตก คนที่เข้าป่าที่ออกมาทำงานและก่อตั้ง NGOs ขนาดเล็กมากมาย เช่นเดียวกัน ที่จุฬาฯ ก็มีโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) (ปัจจุบันคือ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม – มอส.) เป็นช่วงแรกของการมีอาสาสมัครเพื่อสังคมและมี NGOs ขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย การพัฒนาเริ่มเติบโต เมื่อเรียนจบปี 2527 ซึ่งตอนนั้น มอส. เป็นรุ่นที่ 7 ช่วงนั้นมีคนสมัครถึงราว 1,400 คน ซึ่งสะท้อนว่าเป็นช่วงที่กิจกรรมทางสังคมแบบสาย NGOs เติบโตอย่างมาก เพราะสังคมนิยมล่มสลาย หลายคนที่เคยเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เมื่อจบแล้วต่างมีความใฝ่ฝันอยากทำงานเพื่อสังคม ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อจบแล้วก็สมัครเข้าทำงานเป็นอาสาสมัครที่ คอส. แต่ตอนนั้นผมถูกโยนใบสมัครทิ้ง …. (เสียงหัวเราะขำๆตัวเอง)

ในเว็บไซด์ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้กล่าวถึงการก่อเกิดของงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในยุคนั้นไว้เช่นกันว่า

“ปี 2523 ห้องเรียนเล็ก ๆ ภายในสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกดัดแปลงให้เป็นสำนักงานของ คอส. หรือโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่นี่มักคับแคบและคึกคักไปทุกครั้งที่มีคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมารวมตัวกันอยู่พร้อม ๆ กัน อาจเป็นด้วยยุคสมัยแห่งการแสวงหาและท้าทายเป็นกระแสคลื่นตื่นตัวไปทั่วโลกพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคมภายในบ้านเมืองของเรา ที่นำพาให้เกิดการตื่นตัว อยากรู้ อยากเห็น อยากทำ ด้วยความปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จากกิจกรรมเล็ก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย สู่หมู่บ้าน ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ความเป็นไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้าน ชุมชน ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเดิม ๆ ของตนเอง” 

 

เมื่อตอนยื่นสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม อาจารย์มีองค์กรหรือประเด็นที่สนใจด้านไหน หรืออยากทำงานอะไร

ประภาส: ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากไปทำงานชนบท เพราะว่าตอนนั้นงานพัฒนาชนบทเป็นช่วงที่มีการพูดถึงกันมาก ทั้งเรื่องความยากจน หมู่บ้านยากจน การขจัดปัญหาความยากจนเป็นเรื่องใหญ่ในยุคนั้น แต่ถูกโยนใบสมัครทิ้ง จึงไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ซึ่งมีโครงการแด่น้องผู้หิวโหย และเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่บ้านธิ ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ ศรีษะเกษ ตอนนั้น ใจอยากทำงานเชิงรณรงค์นโยบาย ส่วนหนึ่งกระแส NGOs เป็นช่วงของ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” คนที่ก้าวหน้าทางความคิดอยากจะไปทำงานที่หมู่บ้าน การเมืองแบบพรรคการเมืองในยุคนั้นเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉะนั้นกระแสวัฒนธรรมชุมชนจึงเติบโตค่อนข้างมาก แต่กระแสสังคมนิยมยึดอำนาจรัฐยังไม่เข้ากับสถานการณ์ปัญหาที่มี ฉะนั้น โดยภาพรวมไม่ได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ไม่ก้าวหน้า หากเทียบกับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันมีงานเชิงนโยบาย ที่เรียกว่า “งานร้อน” ซึ่งหากเทียบกับในอดีตนั้น การทำงานของ NGOs ไม่ได้เป็นกระแสแบบ งานร้อน แต่เป็นงาน “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ทำให้การทำงานในยุคนั้นเป็นไปแบบนั้น

 

สอง ยุคงานร้อน ขับเคลื่อนงานรณรงค์ทางนโยบายเพื่อหนุนเสริมการแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ

แปลกใจว่าอาจารย์เคยทำงานที่มูลนิธิพัฒนาเด็ก โครงการแด่น้องผู้หิวโหย ภาพเด็กกินดินสมัยนั้นดูเหมือนจะเป็นงานแนวสงเคราะห์เด็ก แล้วอาจารย์เข้ามานั่งในม๊อบสมัชชาคนจนเพื่อศึกษาข้อมูลได้อย่างไร ช่วงชุมนุมสมัชชาคนจน 99 วัน อาจารย์อยู่ในบทบาทไหน ทำไมถึงมาทำเรื่องนี้

ประภาส : ผมออกจากมูลนิธิพัฒนาเด็ก และในปี 2528 เริ่มกลับมาอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม ตอนนั้นท่านอาจารย์สุริชัย (สุริชัย หวันแก้ว) มีงานศึกษาวิจัยทางนโยบาย มีงานรณรงค์ งานวิชาการที่ติดตามผลกระทบจากการพัฒนาที่ชื่อ “โครงการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนา” การทำงานเป็นลักษณะงานคล้าย ๆ งานของ NGOs แต่เป็นงานเชิงนโยบาย หลังจากนั้นก็ไปอยู่ มอส. ซึ่งเนื้อหาการทำงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม คือทำงานศึกษารณรงค์ทางนโยบาย เป็นบริบทของการทำงาน NGOs ที่ทำงานกับชาวบ้านอีกมิติหนึ่งคือ “งานร้อน” งานร้อนที่ว่านี้เป็นงานที่เข้าไปหนุนเสริมการแก้ปัญหาของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เพราะผ่านช่วงของการทำ “งานเย็น” ในยุคก่อน ที่เรียกว่า “ปุ๋ยปอ บ่อส้วม ประชุม สัมมนา ดูงาน กลับมาขยายผล” คิดว่างานเหล่านี้สำคัญอยู่ การจัดตั้งองค์กรชาวบ้านให้เข้มแข็ง มีทิศทางที่จะสร้างทางเลือกการพัฒนาที่งอกเงยมาสู่เกษตรยั่งยืน รวมไปถึงปัจจุบันที่งอกเงยขึ้นมามาก แต่เกิดหน้างานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นงานร้อนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ลงไปหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อฐานทรัพยากรกระทบกับชุมชนที่มาจากโครงการขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน  เขื่อนขนาดใหญ่ การปลูกไม้ยูคา ทำให้ NGOs ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวและพาชาวบ้านร่วมขบวน 

หากย้อนกลับไปในช่วงพลเอกชาติชาติ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2531 ไม่เพียงแต่นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าอย่างเดียว แต่ในระบบการพัฒนาประเทศในภาพใหญ่ที่มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐ อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในรอบที่สอง ทั้งเขื่อน โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม อันเป็นยุคต่อเนื่องช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นช่วงที่การพัฒนาแบบเดิมที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกไปไม่รอด เกิดวิกฤติน้ำมันราคาสูง การค้าระบบโลกต่าง ๆ จึงเปลี่ยนเป็นรัฐบวกทุนขนาดใหญ่ลงในชนบท ทั้งระบบการพัฒนาเกษตรขนาดใหญ่ เกษตรครบวงจร การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภาคอีสานถูกทำให้เป็นพื้นที่โครงการปลูกไม้โตเร็ว ปลูกยูคาลิปตัสเพื่อป้อนโรงงานกระดาษ ทำให้ NGOs นักพัฒนายุคนั้นเริ่มเกิดทิศทางในการทำงานที่เพิ่มการทำงานรณรงค์เผยแพร่ติดตามนโยบาย ติดตามโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เกษตรครบวงจรในอีสาน

ดังนั้น บทบาทการเคลื่อนไหวในช่วงอยู่โครงการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนา การทำงานกับอ.สุริชัย เป็นลักษณะงานสัมมนา เสวนา และช่วงก่อนปี 2532 มอส. มีการขยายงาน ซึ่งมี อาจารย์จอน (จอน อึ๊งภากรณ์) พี่อ้วน (ภูมิธรรม เวชยชัย) ที่ขับเคลื่อนนโยบาย จับประเด็นสำคัญ ๆ บ่อยมาก ทั้งงานการจัดตั้งองค์กรชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งที่มีความสำคัญ และงานติดตามนโยบาย ที่มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นผลกระทบต่าง ๆ อาจจะเรียกว่า งานรณรงค์เผยแพร่เป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการขยายส่วนงาน มอส. ให้มีเนื้อหางานรณรงค์เผยแพร่เข้าไปด้วย และเริ่มมีองค์กรต่างๆ เกิดขึ้น ที่เป็นไปตามกระแสเดียวกัน แม้แต่ กป.อพช. มีชุดคณะทำงานและกลไกการทำงานด้านข้อมูลในแต่ละภูมิภาค ผมก็อยู่ในเนื้องานเหล่านั้นและเข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เมื่อปี 2532  เรียนจบปริญญาโท และขยับมา มอส. ทำงานหนุนเสริม NGOs ทำงานกึ่งเก็บข้อมูล งานวิจัย รวมไปถึงประเด็นที่ดิน ก็ทำงานวิจัยผลกระทบจากที่ดินเปลี่ยนมือ

  

สาม ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน เมื่อการเมืองไม่เห็นหัวคนจน

หลังจากที่ทำงานด้านการศึกษาผลกระทบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ได้เห็นอะไรที่ทำให้มีความสนใจในประเด็นการเมืองภาคประชาชน ได้พบประเด็นสำคัญๆ อย่างไรบ้าง

ประภาส : เรื่องสำคัญที่พบ พบว่านโยบายของรัฐที่ไปกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ฐานทรัพยากร และสิทธิชุมชน ที่เรียกว่า “การเมืองไม่เห็นหัวคนจน” การเมืองในระบบ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งสำคัญ แต่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ กลับต้องต่อสู้กับโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน และไม่สามารถอาศัยการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้นที่ช่วยเหลือและนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้เขาได้ ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาโดยตรงกับชาวบ้านที่จะสู้เชิงนโยบาย หยุดยั้งทางนโยบายหรือสร้างทางเลือก จึงเป็นจุดสำคัญที่ NGOs ชาวบ้านทำงานร่วมกันมา เห็นว่าต้องมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 ผลพวงจากโครงการพัฒนาของรัฐกับชุมชนที่อยู่ในชนบท สร้างผลกระทบต่อฐานชีวิตของชาวบ้าน ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ส่วนหนึ่ง NGOs ที่ทำมาก่อนนั้น ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งชาวบ้าน องค์กรชุมชนเป็นฐานสำคัญ แต่ยังไม่พอสำหรับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากโครงการใหม่ ๆ ที่ไปรุกรานวิถีชีวิตชาวบ้าน งานการสร้างขบวนและเครือข่ายชาวบ้าน NGOs ได้ร่วมกันปรับมาเคลื่อนไหวร่วมกันต่อปัญหาเหล่านี้  ส่วนงานที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นกลไก มอส. ที่เริ่มมีฝ่ายรณรงค์ เผยแพร่ เก็บข้อมูล รวมทั้งช่วงนั้นยังมีอีกส่วนหนึ่งคือบทบาทภาควิชาการต่างๆ มาหนุนเสริมข้อมูลที่เกี่ยวข้องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ทั้งข้อมูลที่บ่งชี้ผลกระทบต่าง ๆ การพัฒนาข้อเสนอให้เกิดทางเลือกการพัฒนาให้เห็นความเลวร้ายของนโยบายที่จะสร้างผลกระทบต่างๆ รวมไปถึงข้อเสนอที่ควรจะหยุดนโยบายเพราะอะไร อย่างไร

NGOs ยุคนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นยุคที่จะต้องทำข้อมูล การศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งข้อมูลเชิงนโยบาย การศึกษาผลกระทบในระดับพื้นที่ ออกมารณรงค์ทางสังคม และเริ่มมีภาคสื่อมวลชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมทำงานหนุนเสริมกัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการต่างๆเข้ามาด้วย มุมมองของอาจารย์ต่อการเติมบทบาทด้วยพลังแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง และการทำให้ภาควิชาการ ชาวบ้าน และ NGOs เชื่อมการทำงานที่ชัดเจนและยกระดับเป็นข้อเสนอทางสังคม นโยบายที่เป็นวิชาการมากขึ้นในยุคนั้นมีความสำคัญอย่างไร

ประภาส : NGOs เองเห็นว่าการทำข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ จะเห็นหลายโครงการเกิดขึ้นมาเพื่อทำภารกิจเหล่านี้ เช่น โครงการทามมูลที่มีพี่แต (สนั่น ชูสกุล) และจิ๋ว (วราลักษณ์ ไชยทัพ) ก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานศึกษาผลกระทบต่างๆ ความเดือดร้อน เก็บข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมกับการจัดตั้งชาวบ้านเพื่อเคลื่อนไหว ที่ปากมูลก็ทำ ที่ภาคเหนือก็ทำเรื่องป่าชุมชน ซึ่งNGOs ทำกันมาก่อนที่วิชาการจะลงไปช่วยเสริม แต่คิดว่า NGOs ทำงานหลายเรื่อง หลายหน้า ทั้งเรื่องปากท้องชาวบ้านต่างๆ อาจจะไม่พอในแง่กำลังคนที่มีอยู่ รวมไปถึงทักษะการทำงานวิชาการด้วย จึงนำไปสู่การขยายความร่วมมือกับภาควิชาการ จึงเกิดขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในการทำงานภาคีกับ NGOs

เนื่องจากปัญหามาจากภายนอกและนโยบายรัฐ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ ฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ประเด็นคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะหยุดยั้งได้ต้องทำให้ฝ่ายกำหนดนโยบาย และผู้คนในสังคมเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริง และฝ่ายนโยบายมีความคิดสำเร็จรูปที่จะพัฒนาทรัพยากรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมก็ตาม การต่อสู้แบบนี้ต้องทำความเข้าใจผู้คนในสังคมได้เห็นข้อเท็จจริงว่า โครงการต่างๆนั้นไปรุกรานวิถีชีวิตชุมชนอย่างไร ฉะนั้นบทบาทเหล่านี้ NGOs เชี่ยวชาญสำคัญในการรู้ชีวิตชาวบ้าน เห็นปัญหาชาวบ้านว่า วิถีชีวิตชาวบ้านนั้นพึ่งพาฐานทรัพยากรอย่างไร แต่คิดว่าในเชิงของการนำไปสู่การต่อรองรัฐ นโยบาย กับการเผยแพร่ภายนอก NGOs มีข้อจำกัด เชิงทักษะแบบวิชาการ ในขณะเดียวกันมีงานที่ต้องทำหลากหลายประเด็น ทำให้การทำงานเชิงวิชาการ การจัดเก็บข้อมูลที่ยอมรับกันได้ โดยเฉพาะงานเขียน งานสรุปประเด็นให้สู่ประเด็นทางวิชาการต่าง ๆ ไม่ใช่ NGOs ทำไม่ได้ มีหลายคนทำได้ดี แต่มีไม่มากนัก ฉะนั้น 1) นักวิชาการมาอุดช่องโหว่ ที่มีจริตใกล้ ๆ กัน เห็นปัญหาชาวบ้านร่วมกัน เช่น ทีมอาจารย์เสน่ห์ (เสน่ห์ จามริก) ได้สร้างทีมวิจัยที่เป็นนักวิชาการชั้นนำที่สำคัญหลายท่าน มาผลักดันขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชนนำมาสู่ฐานองค์ความรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่า และยุคต่อมาก็มีชุดวิจัยเรื่องประเด็นสิทธิชุมชนต่างๆ ที่เชื่อมกันระหว่างนักวิชาการกับนักวิจัยที่เป็นนักพัฒนาจาก NGOs และไปรองรับประเด็นปัญหาสิทธิชุมชนในพื้นที่จริง นักวิชาการในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มลงไปหนุนเสริมชุมชนและ NGOs ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของภาควิชาการที่เข้าไปทำงานกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบและ NGOs ที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า บทบาทของนักวิชาการเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ไปทำงานกับภาคประชาชนในทศวรรษ 2530 ช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย รัฐได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากสนามรบเป็นสนามการค้า โครงการขนาดใหญ่ลงไปในชุมชน สร้างผลกระทบกับชุมชน ผลกระทบกับฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เพราะฉะนั้นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงมากไปกว่าช่วงต้นที่เกิด NGOs ในยุคหลัง 2523 งานเย็น งานพัฒนา งานเกษตรยั่งยืนสำคัญ และอีกมิติหนึ่งงานร้อนที่เกิดขึ้นมา ต้องการต่อสู้อีกแบบหนึ่งคือ การรวมกลุ่มแบบ NGOs ถนัด ยังเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบต่างๆมาต่อรองในเชิงนโยบาย NGOs ยังให้ความสำคัญที่เรียกว่า งานจัดตั้งเครือข่าย ความเข้มแข็งต่างๆ แต่งานข้อมูล งานวิชาการ  NGOs ทำได้ดีบางคนสามารถเป็นนักวิจัยได้มากกว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ก็มีคนแบบนี้ไม่พอ เพราะต้องทำงานต่อรองรัฐด้วย ฉะนั้น บทบาทนักวิชาการจึงเข้ามาเชื่อมต่อกับงาน NGOs ที่ทำงานกับชาวบ้านเป็นส่วนสำคัญที่เคลื่อนงานกันมา และสื่อมวลชนเห็นการเติบโต ทั้งใน NGOs เองเห็นความสำคัญของการสื่อที่มีจัดเก็บข้อมูลผลกระทบและเผยแพร่ออกไป อีกด้านหนึ่งมีการประสานสื่อลงไปช่วงหลังรัฐบาลพลเอกชาติชาย สื่อเติบโตอย่างมาก มีทั้งหนังสือพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นที่พึ่งของภาคประชาชน ของชาวบ้านเพราะว่ามีทุนทรัพย์อยู่มาก มีผู้สื่อข่าวฝ่ายก้าวหน้าเข้าไปอยู่จำนวนมาก

อาจจะเรียกว่าเป็นยุคของการเฟื่องฟูในการทำงานหลายฝ่ายด้วยกัน หมายถึงการใช้กระบวนต่อสู้เชิงข้อมูล การใช้วิชาการและการรณรงค์เผยแพร่ การแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อมีสถานการณ์ชุมนุม หรืออื่น ๆ สื่อมวลชนที่จะนำเสนอ หรือเจรจาต่อรองมีข้อมูลที่พร้อม  

ประภาส : อาจเรียกได้ว่ามีทั้งที่เป็นสถาบันวิชาการ และนักวิชาการที่เป็นรายบุคคลลงไปช่วยในการจัดเก็บข้อมูล ออกแบบการประเมินผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งจะเห็นในหลายมิติ เช่น ที่ภาคอีสานมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปทำงานกับพี่น้องราษีไศล ปากมูล หรือทางภาคเหนือมีอาจารย์ที่มีคุณูปการอย่างมากทั้งอาจารย์อานันท์ (อานันท์ กาญจนพันธุ์) อาจารย์ฉลาดชาย (ฉลาดชาย รมิตานนท์) ที่มีการทำวิจัยประเด็นเกี่ยวกับป่าไม้และงานวิจัยเรื่องป่าชุมชนต่าง ๆ ให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน การพึ่งพิงฐานทรัพยากรจากป่าชุมชน รวมทั้งการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐเข้ามากระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างไร การอพยพคนออกจากป่าเพราะอะไร นำมาสู่ประเด็นข้อเสนอ “คนอยู่กับป่า” พูดถึงแนวคิดเรื่องป่าชุมชนต่าง ๆ คิดว่าคุณูปการสำคัญ ของนักวิชาการ อาจารย์ผู้ใหญ่อย่างท่านอาจารย์เสน่ห์ อาจารย์ฉลาดชาย (ซึ่งทั้งสองท่านได้ล่วงลับไปแล้ว) และมีการเปิดประเด็นทำเรื่องดังกล่าว มีอาจารย์อานันท์ อาจารย์อรรถจักร์ ทำงานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และนักวิชาการรุ่นหลังแบบคนอื่น ๆ ที่น่าจะสืบสานงานเหล่านี้ที่ได้ยกระดับไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายแล้วไปหนุนเสริมขบวนชาวบ้านต่อเนื่องได้มากขึ้น

 

สี่ ยุคปัจจุบัน วิชาการทางสังคมจะขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาชนและภาคประชาสังคมได้อย่างไร

การเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบัน ทั้งเรื่องการเมือง และบทบาทของ NGOs เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เห็นอะไรบ้าง บทบาทของคนทำงานมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งงานระดับพื้นที่ งานเคลื่อนไหว ทั้งบทบาทนักวิชาการ NGOs ภาคประชาสังคม เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง จากที่อาจารย์มาร่วมการเคลื่อนไหวทั้งร่วมกับ P -Move  พอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งแต่ละส่วนมีความแตกต่างหลากหลายกัน อาจจะลองวิเคราะห์แนวทางการทำงานจุดแข็ง จุดอ่อน หรือทิศทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง 

ประภาส : คิดว่าปัญหาของชาวบ้าน ชุมชนที่ทำงานมาตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ภาคNGOs ภาควิชาการที่มีประสบการณ์ร่วมกันมาไม่ได้เปลี่ยนไปในเชิงปัญหา ฐานทรัพยากรที่ถูกรุกราน โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ปัญหายังคงเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนไป แต่มีอะไรคืบหน้าหลายอย่าง เช่น ประเด็นเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่  โครงการเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ดิน จะมีประเด็นเรื่อง พ.ร.บ. ป่าชุมชนที่เกิดขึ้นแล้ว หรือข้อเสนอในแง่ของ พ.ร.บ. สามฉบับที่ออกมา (แม้ว่าจะพิการอยู่บ้าง) แต่ในเชิงของปัญหาพี่น้องชาวบ้านยังดำรงอยู่ในหลายๆพื้นที่มีความคืบหน้าแต่ปัญหาเดิม ๆ ยังคงอยู่ ซึ่งผมว่าบทบาทภาคประชาสังคมอย่าง NGOs ยังมีความสำคัญอยู่มาก

ความแตกต่างในการเคลื่อนไหวนั้น ผมเห็นสองส่วน คือ ไม่ขาวดำไปทั้งสองส่วน อาจจะต้องขยายความว่า แน่นอนว่ากฎหมายนโยบายต่าง ๆ ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ไม่ได้แย่เหมือนถอยหลังไปยุคการเจรจาสมัชชาคนจน ในยกที่หนึ่งหรือยกที่สอง ซึ่งมีทั้งข้อจำกัดและโอกาส เช่น ประเด็น พ.ร.บ. ป่าชุมชน ทราบกันดีอยู่ว่าหลายส่วนไปได้ ต่อรองได้ และสามารถอาศัยกฎหมายไปผลักในระดับปฏิบัติและระเบียบต่าง ๆ เอื้อให้จัดทำอะไรมากมาย แต่มีข้อจำกัดอยู่เช่น ในพื้นที่อุทยานฯ ที่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชนได้ ที่กล่าวมานั้นการเคลื่อนไหวทางนโยบายของทั้งสองส่วนนั้น ผมมองว่าไม่ได้ขัดกัน ส่วนที่เป็นโอกาสทำให้เห็นว่าทิศทางแบบนี้ต้องขยาย ประเด็นที่มีข้อจำกัดต้องไปทบทวนในเชิงกฎหมาย และกฎหมายเปิดโอกาสที่นำไปสู่การทบทวนส่วนที่เป็นข้อจำกัด ฉะนั้นงานทั้งสองส่วนคิดว่า ไปด้วยกันได้เกื้อหนุนกันได้ ด้านหนึ่งให้เห็นถึงข้อจำกัดกฎหมายที่มีอยู่ แง่ของการเปลี่ยนข้อจำกัดกฎหมาย หรือข้อเสนอในการปฏิรูปกฎหมายต้องมีตัวอย่างในเชิงรูปธรรมเกิดขึ้น ส่วนที่เป็นโอกาสต้องทำให้เห็นบทเรียน และคิดว่าไม่ได้มีความขัดแย้ง บางครั้งเป็นเรื่องท่าที หากตัดเรื่องนี้ออกไปจะเห็นการหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้

ยกตัวอย่าง เขตวัฒนธรรมพิเศษมีมาตั้งแต่มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และ 2 มิถุนายน 2553 และปรับมาเป็นรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และปัจจุบันมีการยกร่าง พ.ร.บ. เขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายออกมาแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย เชิงปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่มีศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรเข้ามาร่วมทำงานกับ NGOs หลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นโดยยังไม่มีกฎหมาย กติกาใหญ่ไม่ยอมรับ แต่เกิดพื้นที่ปฏิบัติการหรือมีต้นแบบที่เห็นว่าไปได้ แต่จะไปได้มากน้อยไปสู่กติกาใหญ่จะต้องทำงานสองระดับ และคิดว่าสำคัญมาก

เมื่อเทียบกับยุคก่อนกับยุคปัจจุบันที่สถานการณ์ในทางกฎหมายเริ่มเปิด เพียงแต่ไม่สมบูรณ์ มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการ และอาศัยสถานการณ์ที่กฎหมายเปิดบางส่วนให้ทดลองใช้ เพื่อที่จะมีข้อเสนอกรณีที่ไม่สมบูรณ์ว่าควรจะเปลี่ยนอะไร เป็นแนวหนึ่งที่มี NGOs กลุ่มหนึ่งทำอยู่ แต่อีกแนวหนึ่งคือ ไม่เอากฎหมาย รอกฎหมายที่สมบูรณ์ไปเคลื่อนไหวในบทบาทนั้น ในขณะที่บทบาทของ NGOs ต้องการงานวิชาการมาหนุนเสริม แต่เริ่มขาดหายไป  NGOs พยายามสร้างพื้นที่ปฏิบัติการบนการแก้ปัญหาที่เริ่มเปลี่ยนแปลง และใช้วิธีการปฏิบัติการลงมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องร่วมกันลองผิดลองถูก หาทางแก้ไขปัญหาไปในระดับพื้นที่ แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายกับสังคม หรือบอกว่า จุดไหนควรเปลี่ยน หรือจุดไหนไม่ควรเปลี่ยน  ซึ่งตรงนี้บทบาทนักวิชาการกลับขาดหายไป อาจารย์คิดว่าเป็นอย่างไร เพราะอะไร

ประภาส : คิดว่าเห็นร่วมกัน เหมือนหญ้าปากคอก ในทางปฏิบัติการสองระดับไม่เห็นว่าจะขัดแย้งกันเลย ฟังดูเหมือนขัดแย้ง แต่มองว่ากลับไม่เห็นความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย การไปผลักเชิงนโยบายกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพื้นที่รูปธรรมรองรับ ต้องทำงานในเชิงโมเดล เพื่อให้เกิดขึ้นในการเสนอกับรัฐและสังคม ซึ่งลักษณะงานเช่นนี้จะทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเจรจาที่อาจจะไม่เห็นผล เพราะในระดับพื้นที่ไม่มีพื้นที่รูปธรรม เพราะฉะนั้นในอีกระดับหนึ่งของการทำงานที่มี NGOs หลายหน่วยงานเรียกว่า “งานทางเลือก” เพื่อให้เห็นโมเดลการจัดการที่ไปก่อนกฎหมายเพื่อแก้กฎหมายตาม เมื่อกลับมาร่าง พ.ร.บ. เขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการเคลื่อนโดยนักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาเห็นและพยายามสร้างนโยบายแบบปรึกษาหารือที่มาจากด้านล่าง ขับเคลื่อนสังคม มีหลายคนก็เห็นว่าส่วนกฎหมายสำคัญน้อยกว่าการปฏิบัติการด้านล่าง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญไม่แตกต่างไปจากการทบทวนกฎหมาย เปลี่ยนกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งสองส่วนต้องไปด้วยกันให้ได้ รวมไปถึงการเจรจาในระดับพื้นที่ การทำงานกับราชการ การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ เช่น ระดับอำเภอก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในระยะยาวจะเป็นตัวอย่างว่ากฎหมายต้องแก้ตามพื้นที่ คิดว่าเป็นพลังที่สำคัญไปด้วยกัน

กลับไปยังคำถามเดิมแรกว่า บทบาทใหม่ในบริบทปัจจุบันควรจะเป็นการผลักไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายกฎหมาย เป็นงานปฏิบัติการร่วมในระดับพื้นที่ที่จะสร้างพันธมิตร ภาคีหลายส่วนและร่วมกับชุมชน ชาวบ้าน ซึ่งคิดว่าทุกคนเห็นด้วย การเคลื่อนไหวแบบเน้นเคลื่อนนโยบายเป็นหลัก แต่ยังขาดการปฏิบัติการเชิงรูปธรรม ส่วนนี้งานวิชาการจะเข้าไปหนุนเสริมที่สถาบันการศึกษาพูดกันมากในเรื่องของเศรษฐกิจชุมชน แต่ยังไม่สอดคล้องกับปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ ทั้งฐานทรัพยากร การรุกรานจากโครงการขนาดใหญ่ เศรษฐกิจชุมชนแบบเล็ก ๆ

สถาบันการศึกษาปัจจุบันด้านหนึ่งก็ปรับทิศทางที่ดีคือ เกิดงานวิชาการและงานวิจัย “งานวิชาการรับใช้ชุมชนและสังคม” ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยจะต้องมารับใช้ชุมชนและสังคม และมหาวิทยาลัยมาหนุนเสริมทางด้านเศรษฐกิจชุมชน ทำงานกับชุมชนและกลายเป็นทิศทางสำคัญ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยปรับตัวที่สามารถขอตำแหน่งวิชาการเพื่อรับใช้ชุมชนและสังคมเป็นทิศทางที่ดี แต่พบว่าการลงปฏิบัติการให้เห็นเนื้อแท้หรือเกิดขึ้นจริง พูดถึงการรับใช้ชุมชนและสังคมยังเป็นปัญหา ซึ่งยังจำกัดอยู่ที่การไปสร้างเศรษฐกิจพอเพียง OTOP สินค้าชุมชน การท่องเที่ยวนวัตวิถีต่าง ๆ ซึ่งยังไกลกับปัญหาของชุมชนที่เผชิญอยู่จากที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นโดยเฉพาะฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ฐานชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งไปสัมพันธ์กับการเมืองประชาธิปไตย

การกำหนดนโยบายที่ยังไม่เห็นหัวคนจนเหมือนกับการเคลื่อนไหวของชุมชนมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวิชาการ แม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีในภาพใหญ่ แต่เมื่อไปสู่การปฏิบัติการจริง อะไรคือนิยามความหมายเมื่อต้องไปทำงานกับชุมชน หนุนเสริมชุมชนทิศทางไหนในบทบาทของวิชาการ และงบประมาณส่วนใหญ่ไปหนุนเสริมที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่พี่น้องเผชิญอยู่หรือเป็นแค่นโยบายเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Policy) เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ เป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คนหรือไปทำให้ชุมชนสามารถใช้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ปกป้องฐานทรัพยากรฯที่มีอยู่อย่างเข้มแข็งได้ และไปสร้างรายได้ให้กับผู้คนที่ฐานรากของชุมชนแต่มีลักษณะละลายแม่น้ำไปมากกว่า บทบาทวิชาการที่ลงไปจึงดูจะเป็นทิศทางที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายงบประมาณ บุคลากรต่างๆ ซึ่งควรทบทวนงานวิชาการรับใช้ชุมชนและสังคมซึ่งนักวิชาการอาวุโส เช่น ท่านอาจารย์เสน่ห์ ฯลฯ  ได้แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญลงมาทำงานกับชุมชน สร้างองค์ความรู้งานวิชาการป่าชุมชนและอื่นๆ 

คิดว่ามีโอกาสจะทำแบบนั้นอีกหรือไม่ ที่นักวิชาการจะมาขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชน การแก้ไขปัญหาของชุมชนในยุคนี้

ประภาส : ในระดับบุคคลหรือหน่วยงาน ผมคิดว่าหลายส่วนพยายามทำกันอยู่ เช่น ภาคเหนือ มี อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ซึ่งเป็นไปแบบลักษณะเป็นรายบุคคล รวมไปถึงภาคอีสาน มี อาจารย์กนกวรรณ มโนรมย์ ฯลฯ ผมคิดว่ามีอาจารย์ที่มีบทบาทในการปักหลักฐานทำให้เห็นตัวแบบได้อย่างดียิ่ง ปัญหาคือเป็นกระแสรองอย่างมาก แม้บางส่วนเป็นองค์กรย่อย ๆ อยู่แต่ยังเป็นระดับบุคคลอยู่มาก ในทางการทำงานวิชาการควรจะมีมากขึ้น ไปปรับเปลี่ยนฐานคิดในเรื่องของการใช้ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ งานวิจัย รวมไปถึงการนิยามอะไรคืองานรับใช้ชุมชนและสังคม ควรถูกขยายและให้ความสำคัญกับงานและทำให้สถาบันวิชาการเข้ามาทำงานแบบนี้เชื่อมประสานเป็นพันธมิตรร่วมกัน และส่วนหนึ่งบทบาทอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป ถูกตีกรอบด้วยการประเมิน KPI ตัวชี้วัดต่างๆเป็นปัญหา ทำให้ออกมาเป็นลักษณะบุคคล ไม่ใช่งานของสถาบันการศึกษา

เราจึงปิดบทสนทนากับอาจารย์ประภาสด้วยความรู้สึกที่ยังมีความหวัง และมองเห็นการเชื่อมร้อยบทบาทการทำงานทางสังคมของนักวิชาการ สถาบันวิชาการต่อไปในวันข้างหน้า

 

 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “เดินข้ามพรมแดน บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว” 60 ปี ประภาส ปิ่นตบแต่ง