นักวิชาการ ผิดหวังส.ส.โหวตไม่รับร่างหลักการ พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ไม่อาจหาญอยู่เคียงข้างปชช.
นพพร ขุนค้า นักวิชาการประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังอย่างมากกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ที่โหวตไม่รับร่างหลักการ พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพราะถือว่าไม่มีความอาจหาญเพียงพอที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน ทั้งที่มรดกจากการทำรัฐประหารไม่ควรจะดำรงอยู่ต่อไป เพื่อนำมาบังคับใช้กับผู้คนในสังคม สำหรับ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในพรรคการเมืองใด ควรใช้โอกาสในการพิจารณากฎหมายในภาวะที่บ้านเมืองเป็นปกติได้ แต่การที่ ส.ส.โหวตไม่รับร่างถือว่าไม่น่าจะเคารพหรือศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้มีการขับเคลื่อนรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ส่วนจะมองว่าเขียนไว้เท่ๆ หรือไม่ เชื่อว่ากรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา เพราะผู้ที่ถือครองอำนาจไม่ต้องการรับฟังเสียงของประชาชน เพราะร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อ ตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้วตามขั้นตอนที่กำหนด
อย่างน้อยก็ต้องโหวตผ่าน เพื่อเดินไปข้างหน้าในขั้นตอนการแปรญัตติแล้วถ้าจะถูกโหวตตกไปก็ถือว่ายังมีความหวัง ไม่ควรจะถูกตีตกในวาระรับหลักการ ถือเป็นการทำลายเจตนารมของประชาชน สิ่งที่ ส.ส.เสียงข้างมากกระทำลงไปไม่ว่าท่านจะมีใบสั่งหรือไม่ แต่ถือว่าไม่ได้เคารพเสียงจากประชาชน และรัฐธรรมนูญที่เขียนถึงแนวทางการมีส่วนร่วมไว้นั้น เป็นการเขียนไว้เป็นเครื่องประดับเฉยๆเท่านั้น
อย่าลืมว่า ส.ส.ที่โหวตในเสียงข้างมากบางส่วนบางรายก็เคยมีผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ในอดีต มีความเจ็บปวดจากการที่ถูกกระทำหลังการยึดอำนาจเมือเดือนพฤษภาคม 2557 มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ควรจะย้อนคิดถึงความหลัง อย่าเป็นคนลืมง่าย แต่วันนี้เมื่อเปลี่ยนค่าย เปลี่ยนพรรค ก็ไม่ควรปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะพลเอกประยุทธ์อาจจะไม่ได้อยู่ยาวนาน แต่การเคารพเสียงของประชาชนโอกาสที่จะอยู่ได้นาน จะมีมากกว่าอย่างแน่นอน
ส่วนตัวขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบและจดจำว่า ส.ส.ที่ไม่หนุนร่างกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยของภาคประชาชน ควรจะเป็นตัวแทนของท่านอีกต่อไปหรือไม่ เพราะการที่ ส.ส.ยังมีเจตนาที่จะรักษามรดกเก่าของ คสช.ไว้ ก็แสดงว่าเห็นด้วยโดยปริยายกับคำสั่งและประกาศที่ไม่เคารพเสียงของประชาชน
สำหรับสิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญของประชาชนคนไทย เราต้องหวงแหนอำนาจ ต้องย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ก่อนปี 2557 สังคมไทยยังมีปัญหาพอสมควร เพราะหากมีความขัดแย้งทางการเมือง จะมีคนบางกลุ่มเชียร์ให้ทหารออกไปยึดอำนาจ โดยหลักถือว่าการยึดอำนาจเป็นสิ่งเลวร้ายทางการเมือง ดังนั้นประชาชนต้องช่วยกันถอดบทเรียน ต่อไปไม่ควรปล่อยให้มีการยึดอำนาจ การแก้ปัญหาทางการเมืองทุกฝ่ายเห็นต่างกันได้แต่ควรมีกติกาที่สากลด้วยการเคารพความเห็นต่าง
เมื่อเหตุการณ์ในปี 2557 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้อีก วันนี้ประชาชนต้องทบทวนตัวเองว่าหลังจากเกิดรัฐประหาร มีรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะไม่เป็นประชาธิปไตย หลังจากเลือกตั้งแล้วได้ ครม. ต้องช่วยกันประเมินว่าประชาชนได้อะไรจากรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะในวิกฤตโรคระบาด ครม.ที่เป็นผลผลิตในการสืบทอดอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ถูกทางหรือไม่ วันนี้ภาคประชาชนต้องตื่นตัว ในประเทศที่สังคมการเมืองพัฒนาแล้วประชาชนจะสั่งสอนนักการเมืองจากพลังในการลงคะแนนเลือกตั้ง
ถ้ามองในแง่ดีการเปิดช่องให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นบันใดเชื่อมต่อไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แม้จะเขียนไว้เท่ๆให้ชาวโลกรู้ว่ามีเจตนาสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ประชาชนอย่าเพิ่งท้อใจ เพราะเมื่อสภาชุดนี้ปฏิเสธร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอแทบทุกครั้ง แต่สภามีเวลาหมดอายุการทำงานตามวาระ วันไหนที่อำนาจกลับไปสู่มือของประชาชนก็จะได้เห็นว่า ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดที่ไม่เคารพเสียงประชาชนจะมีผลกระทบอย่างไร และเชื่อว่าในอนาคตสังคมไทยจะตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าในอดีตอย่างแน่นอน
วันนี้รัฐบาลไม่ได้จริงใจกับประชาชน แต่ยังคงรักษาธงเพื่อการสืบทอดอำนาจ พิสูจน์ได้จากการเขียนรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 279 นิรโทษกรรมการกระทำในอดีตถึงอนาคต แม้กระทั่งมวลชนทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง แค่รัฐบาลไม่เคยจะรับฟัง ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ต้องปรับตัวอย่านำอุปนิสัยที่เคยใช้ในกองทัพมาใช้กับประชาชนหรือการบริหารบ้านเมือง