จ่อชงร่างพรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขเข้าสภาฯ นิรโทษคดีการเมือง เว้นคดี 112-ทุจริต-อาญาร้ายแรง

แฟ้มภาพ

รวมไทยสร้างชาติ-พรรคร่วมรัฐบาล ยกร่างพรบ.นิรโทษกรรม เตรียมเสนอเข้าสภาฯ ประกบร่างพรรคก้าวไกล โดยใช้ชื่อร่างพรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขฯ เนื้อหาคล้ายฉบับหมอระวี นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมืองให้กับแกนนำ ประชาชน และแนวร่วมทั้งคดีแพ่ง-อาญา แต่ไม่พ่วงคดี112-ทุจริต-อาญาร้ายแรง

2 ธ.ค.2566 – รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่ามีความเคลื่อนไหวของคนในพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ในการจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พรบ.)นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ เกิดขึ้นมาได้สักระยะแล้ว โดยมีรายงานว่า มีการมอบหมายให้ส.ส.บางคนของพรรคไปรับผิดชอบในการเขียนร่างฯ ดังกล่าว

ซึ่งเนื้อหาเกือบทั้งหมดรวมถึงชื่อร่างฯ จะเหมือนกับร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังใหม่เสนอเข้าสภาฯ ในสมัยที่ผ่านมา แต่พิจารณาไม่ทันเพราะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นก่อน

โดยร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ที่คนในพรรครวมไทยสร้างชาติ กำลังหารือกันอยู่จะใช้ชื่อว่า ร่าง พรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฯ โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือจะนิรโทษกรรมคดีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองให้กับแกนนำและประชาชน แนวร่วมทั้งหมด ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง แต่จะไม่นิรโทษกรรมให้กับคนทำผิดคดี 112 -คดีทุจริตและคดีอาญาร้ายแรง

สำหรับร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับของนพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังใหม่มีเนื้อหาดังนี้

บันทึกหลักการและเหตุผล

ประกอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนพ.ศ. ….

หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

เหตุผล

ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายที่ภาครัฐประกาศและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ขาดการยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น บางครั้งก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ลงท้ายด้วยการจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกลงสู่สังคมไทยทุกระดับ

ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, ความมั่นคงและวัฒนธรรม การกระทำต่างๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

ร่าง

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
พ.ศ. ….

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นความผิดจาก

(๑) การทุจริต คอร์รัปชัน
(๒) ความผิดทางอาญาที่รุนแรง
(๓) ความผิดตามมาตรา ๑๑๒

มาตรา ๔ เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา ๓ วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา ๕ การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี