กสทช.ปรับเงื่อนไขประมูลดาวเทียม 4 แพ็กเกจ ครั้งสุดท้าย คาดประมูลไม่เกิน ต้นเดือน ก.ค. 2564

กสทช.ปรับเงื่อนไขประมูลดาวเทียม 4 แพ็กเกจ ปรับราคาขั้นต่ำการประมูลลดลงให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจจริง เปิดประมูลพร้อมกัน 4 แพ็กเกจ ป้องกันปัญหาฮั้วประมูล ยกเลิกเงื่อนไขการหาพันธมิตรต่างชาติร่วมลงทุน แต่ต้องจดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่สถานีควบคุมดาวเทียมสามารถตั้งอยู่นอกประเทศไทยได้ เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ให้บริการอยู่นอกประเทศ ย้ำการประมูลดาวเทียมเพื่อให้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ดำเนินธุรกิจได้ ทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิวงโคจรของประเทศตามรัฐธรรมนูญ คาดประมูลไม่เกินต้นเดือน ก.ค. 2564

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 22 มี.ค. 2564 สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด(Package) เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้เคยเปิดรับฟังมาแล้วเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 โดยมีการปรับลดราคาขั้นต่ำลงให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจจริง

ส่งผลให้มีการปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลลงบางชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงานC1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676.92 ล้านบาท และชุดที่ 3 ที่ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) จาก ปรับราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาท เป็น 392.95 ล้านบาท

สำหรับชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ไม่มีการปรับราคาขั้นต่ำ โดยชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และLSX2R) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท และชุดที่ 4 ที่ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 364.69 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบการประมูลยังคงกำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1. พิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 2. การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา โดยมีการปรับจากเดิมที่กำหนดให้เป็นรูปแบบของการยื่นข้อเสนอด้านราคาในรูปแบบผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุดทีละรอบของแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม (Sealed Bid) เป็นการยื่นข้อเสนอการประมูลในชุดข่ายงานดาวเทียมพร้อมกันทั้ง 4 ชุด(Simultaneous Auction) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้ในทุกชุด และป้องกันการการสมยอมในการเสนอราคา (ฮั้วประมูล)

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการปรับเงื่อนไขต่างๆให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่น ยกเลิกการเปิดให้บริษัทสามารถหาพันธมิตรร่วมลงทุนมาประมูลได้ เนื่องจากต้องการบริษัทที่มีตัวตน ไม่นอมินี และจดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่สถานีควบคุมดาวเทียมสามารถตั้งอยู่นอกประเทศไทยได้ จากเดิมกำหนดให้ตั้งในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในสถานการณ์จริงพบว่า พื้นที่ให้บริการของดาวเทียมไม่ได้อยู่ในประเทศ ดังนั้นสถานีควบคุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยแต่ต้องสามารถควบคุมการทำงานจากประเทศไทยได้

“การประมูลครั้งนี้ บอร์ดกสทช.ต้องการเร่งให้มีการประมูล ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน เพราะหากไม่มีใครบริหารดาวเทียม วงโคจรว่างลง กสทช.จะผีความผิดเพราะไม่รักษาสิทธิวงโคจรตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการประมูลครั้งนี้ อย่ามองว่าเป็นการนำเงินเข้ารัฐ แต่ให้มองว่าเป็นการทำหน้าที่รักษาวงโคจรของประเทศไทยในส่วนของค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิรายปี จำนวน 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่เกิน 1.5 % และ ค่าธรรมเนียม USO จำนวน 2.5 % นั้นยังคงเป็นอัตราเดิมตามร่างประกาศ” พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีการปรับระยะเวลาและเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในชุดที่ 2 ข่ายงาน A2B ที่เป็นของดาวเทียมไทยคม 5 เดิม โดยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือรอนสิทธิข่ายงานที่ดาวเทียมไทยคม 6 และ 8 ใช้อยู่เนื่องจากอยู่ในวงโคจร (Slot) 78.5E เดียวกัน และเงื่อนไขระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิในชุดที่ 3 ข่ายงาน IP1 จะได้รับหลังจากอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 (IP Star) สิ้นสุด เพื่อไม่ให้ผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้โดนรอนสิทธิหรือมีปัญหาสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่ให้สามารถมีผู้ได้รับการอนุญาตทั้ง 4 ชุด เพื่อที่จะได้รักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของประเทศไทย

หลังจากการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้แล้ว สำนักงานฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุงร่างประกาศเพื่อให้มีความสมบูรณ์ และจะเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในปลายเดือน เม.ย. นี้ หาก กสทช. เห็นชอบก็จะสามารถนำไปประกาศลงในราชกิจจาฯ ได้ภายในเดือน พ.ค. จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจมายื่นขอรับอนุญาตได้ในเดือนมิ.ย. และหลังจากผ่านการพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์แล้ว คาดว่าจะสามารถเข้ามายื่นข้อเสนอด้านราคาหรือประมูลได้ภายในปลายเดือน มิ.ย. หรือ ต้นเดือน ก.ค. ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจดาวเทียมจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย. 2564 นี้